ชาวนาอินเดียประท้วงต้านกฎหมายปฏิรูปการเกษตร

A policeman chases away a farmer during a protest against the newly passed farm bills at Singhu border near Delhi, India, Nov. 27, 2020.

ตำรวจใช้ยิงแก๊สน้ำตาและปืนใหญ่น้ำสลายกลุ่มผู้ประท้วงชาวนาหลายพันคนทางตอนเหนือของอินเดียเมื่อวันศุกร์ โดยกลุ่มผู้ประท้วงชุมนุมต่อต้านกฎหมายปฏิรูปการเกษตรที่พวกเขากังวลว่า จะทำให้เกษตรกรถูกบริษัทใหญ่เอารัดเอาเปรียบได้

กลุ่มผู้ชุมนุมตามชานเมืองกรุงนิวเดลี พยายามทำลายกำแพงคอนกรีตที่ติดตั้งรอบตัวเมืองเพื่อสกัดกั้นกลุ่มผู้ประท้วง โดยผู้ประท้วงจำนวนมากนั่งรถไถและรถจักรยานยนต์มาจากรัฐปัญจาบ ซึ่งเป็นรัฐเกษตรกรรมทางตอนเหนือของอินเดีย โดยกลุ่มชาวนาตั้งเป้ามาปักหลักชุมนุมในกรุงนิวเดลีจนกว่ารัฐบาลจะยอมแก้ไขกฎหมายดังกล่าว

ในที่สุดตำรวจก็อนุญาตให้กลุ่มผู้ประท้วงเดินทางเข้ากรุงนิวเดลีได้ หลังผู้ประท้วงเรียกร้องขอคำอธิบายจากทางการอยู่หลายชั่วโมง โดยอมารินเดอร์ ซิงห์ มุขมนตรีรัฐปัญจาบ ระบุว่า รัฐบาลควรเริ่มการเจรจาถึงข้อกังวลของชาวนาต่อกฎหมายด้านการเกษตรและแก้ปัญหานี้โดยเร็ว

ทั้งนี้ กฎหมายฉบับดังกล่าวผ่านการรับรองเมื่อเดือนกันยายน โดยมีจุดประสงค์เพื่อปฏิรูปกฎหมายฉบับเก่าที่ชาวนาขายผลิตผลส่วนใหญ่ผ่านตลาดขายส่งของทางการด้วยราคาที่กำหนดโดยรัฐ โดยตั้งเป้าเปิดช่องทางให้ชาวนาสามารถขายผลิตผลแก่บริษัทเอกชนได้

protest against farm bills

นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ระบุว่ากฎหมายฉบับใหม่เป็น “กฎหมายฉบับประวัติศาสตร์” ที่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้ชาวนา เพิ่มศักยภาพในการผลิต และทำให้ชาวนาเป็นอิสระจากพ่อค้าคนกลาง ผู้สนับสนุนกฎหมายฉบับดังกล่าวยังเห็นว่า กฎหมายฉบับนี้จะช่วยดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชน และทำให้ภาคการเกษตรของอินเดียทันสมัยขึ้น

ฝั่งชาวนาอินเดียกลับกังวลว่า การไม่มีภาครัฐควบคุมกลไกตลาดอาจทำให้พวกเขามีอำนาจต่อรองกับบริษัทใหญ่เพียงเล็กน้อย ทำให้พวกเขาอาจต้องขายผลิตผลแก่บริษัทใหญ่ด้วยราคาที่ต่ำลง และทำให้รายได้ของชาวนาในชนบทลดน้อยลงไปอีก สวนทางกับความต้องการให้ราคาผลิตผลสูงขึ้น

ทั้งนี้ ประชากรอินเดียเกือบครึ่งดำรงชีวิตอยู่กับภาคการเกษตร อย่างไรก็ตาม ภาคการเกษตรกลับมีมูลค่าเพียง 17 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีอินเดีย อีกทั้งชาวนาส่วนใหญ่มีที่ดินขนาดเล็ก มีรายได้ต่ำและมักมีหนี้

เดวินเดอร์ ชาร์มา นักวิเคราะห์นโยบายอาหารและการเกษตร ระบุว่า การชุมนุมขนาดใหญ่แสดงให้เห็นว่า ชาวนาไม่เห็นด้วยกับแผนของรัฐบาลและทางการไม่ปรึกษากับชาวนาก่อนผ่านกฎหมายฉบับนี้ ทำให้ชาวนาเชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้จะเป็นผลเสียต่อพวกเขา แม้ว่าวงการอุตสาหกรรมและภาคการตลาดจะมีท่าทีเปิดรับกฎหมายฉบับนี้ก็ตาม