นายกรัฐมนตรีอินเดีย นเรนธรา โมดี เรียกร้องให้เกิดความสงบในขณะที่กำลังเกิดการประท้วงกฎหมายสถานะพลเมืองฉบับใหม่ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติต่อพลเมืองอินเดียที่นับถือศาสนาอิสลาม โดยพรรครัฐบาล ภาราติยา จานาตะ
นักศึกษาในหลายเมือง รวมทั้ง มุมไบ เชนไน และเบงกาลูรู ร่วมเดินขบวนตามท้องถนนในวันจันทร์ หนึ่งวันหลังจากตำรวจอินเดียบุกเข้าไปใวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยชั้นนำในกรุงนิวเดลี และยิงแก๊สน้ำตาใส่นักศึกษาหลายคนที่ชุมนุมประท้วงทำให้มีผู้บาดเจ็บหลายสิบคน
ที่รัฐเบงกอลตะวันตก ผู้ประท้วงจุดไฟเผารถบัสหลายสิบคันและสถานีรถไฟสองแห่ง ส่วนที่รัฐอัสสัม มีรายงานผู้ประท้วงถูกยิงเสียชีวิตหนึ่งคน และบาดเจ็บ 26 คน จากการปะทะกันกับตำรวจปราบจลาจล
ทางการสหรัฐฯ และอังกฤษ ได้มีประกาศเตือนพลเมืองของตนให้ระวังการเดินทางไปยังรัฐทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียในช่วงนี้
บรรดาผู้นำพรรคฝ่ายค้านอินเดียปลุกระดมให้เกิดการประท้วงในหลายเมืองตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว ท่ามกลางความกังวลของประชาชนในรัฐทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่ากฎหมายฉบับใหม่จะทำให้มีผู้อพยพชาวฮินดูได้รับสถานะพลเมืองอินเดียมากขึ้น
กฎหมายสถานะพลเมืองฉบับใหม่ของอินเดียกำหนดไว้ว่า ผู้อพยพจากประเทศเพื่อนบ้านสามประเทศ คือ อัฟกานิสถาน ปากีสถาน และบังกลาเทศ ที่นับถือศาสนาที่ไม่ใช่ศาสนาหลักในประเทศเหล่านั้น รวมถึง ฮินดู ซิกห์ และคริสต์ จะได้รับสถานะพลเมืองอินเดียเร็วขึ้น แต่ไม่รวมอิสลาม
รัฐบาลอินเดียปฏิเสธว่าไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อชาวมุสลิม แต่เป็นเพราะชาวมุสลิมไม่ใช่ชนกลุ่มน้อยในประเทศเหล่านั้นซึ่งประชากรส่วนใหญ่นับถืออิสลาม
บรรดาองค์กรอิสลาม กลุ่มสิทธิมนุษยชน และพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ต่างต่อต้านกฎหมายฉบับนี้โดยบอกว่าเป็นการเลือกปฏิบัติต่อชาวมุสลิม และว่าเป็นความพยายามของนายกรัฐมนตรีนเรนธรา โมดี ที่ต้องการลดความสำคัญของศาสนาอิสลามในอินเดีย ซึ่งนายกฯ โมดี ได้ออกมาปฏิเสธ
ชาวมุสลิมในอินเดียจำนวนมากต่างบอกว่าพวกตนรู้สึกเหมือนเป็นพลเมืองชั้นสอง หลังจากที่นายกฯ โมดี ซึ่งนับถือศาสนาฮินดู ขึ้นสู่ตำแหน่งเมื่อ 5 ปีก่อน และชนะเลือกตั้งครั้งที่สองในปีนี้
ขณะที่สมาชิกพรรคผ่านค้านบางคนบอกว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่ต่างจากกฎหมายต่อต้านชาวยิวที่พรรคนาซีเยอรมันเคยนำมาใช้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง