กฎหมายสถานะพลเมืองอินเดีย: จาก 'จุดบอด' สู่ 'จุดเดือด' สะเทือนรัฐบาล ‘โมดี’

FILE PHOTO: India's Prime Minister Narendra Modi speaks to the media inside the parliament premises on the first day of the winter session in New Delhi, India, November 18, 2019. REUTERS/Altaf Hussain/File Photo

Your browser doesn’t support HTML5

India Citizenship Law Protest

สมาชิกพรรคภาราติยะ จานาตะ หรือ BJP (Bharatiya Janata Party) ของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่าพวกเขารู้สึกตกใจที่ได้เห็นชาวอินเดียหลายแสนคนลุกขึ้นมาต่อต้านกฎหมายสถานะพลเมืองฉบับใหม่ จนลุกลามกลายเป็นการประท้วงใหญ่ในหลายเมือง ต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่าสองสัปดาห์ และทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 21 คน

กฎหมายสถานะพลเมืองใหม่ เป็นกฎหมายที่เอื้อให้ผู้อพยพจากอัฟกานิสถาน บังคลาเทศ และปากีสถาน มีช่องทางได้สัญชาติอินเดีย ยกเว้นผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม โดยรัฐบาลอินเดียให้เหตุผลว่า ชาวมุสลิมไม่ใช่ชนกลุ่มน้อยในประเทศทั้ง 3 นี้ และไม่มีปัญหาที่ทำให้ต้องอพยพออกจากประเทศ

กฎหมายดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับทั้งชาวมุสลิมและชาวฮินดู โดยชาวมุสลิมมองว่ากฎหมายนี้อาจจะทำให้พวกเขากลายเป็นพลเมืองชั้นสองในอินเดีย ประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดู ในขณะที่ผู้ประท้วงคนอื่น เช่น นักศึกษา นักการเมือง และนักรณรงค์เคลื่อนไหว มองว่า โมดี กำลังทำร้ายรัฐธรรมนูญของอินเดียที่แยกศาสนาออกจากการปกครองประเทศ

สมาชิกพรรค BJP ของโมดี บอกว่าตอนนี้พวกเขาต้องยื่นมือไปขอความช่วยเหลือจากพันธมิตรและพรรคฝ่ายค้าน ที่ถูกมองข้ามไปในขั้นตอนการผ่านกฎหมายฉบับนี้ และยังได้ส่งผู้สนับสนุนพรรคไปพูดคุยกับชุมชนเพื่อลดความไม่พอใจต่อกฎหมายใหม่

บางคนพยายามบอกกับสังคมว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อพลเมืองปัจจุบันของอินเดีย

India Prime Minister Narendra Modi

ถึงแม้ว่า นเรนทรา โมดี จะยังครองเสียงข้างมากในสภาอย่างไม่ต้องกังวล แต่ในฐานะนักยุทธศาสตร์ผู้สามารถอ่านทะลุความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคม ชื่อเสียงของเขาเสียหายไปไม่น้อย

นักวิเคราะห์มองว่าปฏิกิริยาของผู้ชุมนุมบนท้องถนน สะท้อนให้เห็นถึงความไม่พอใจหลายอย่างที่มารวมกัน เช่น การปกครองแบบอัตตาธิปไตย หรือใช้อำนาจเด็ดขาดอิงเสียงข้างมากของโมดี รวมถึงการละเลยปัญหาเศรษฐกิจและการว่างงานในประเทศ นักวิเคราะห์มองว่าการชุมนุมครั้งนี้ยังไม่น่าจะยุติได้ในเร็ววัน

โมดีได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อห้าปีก่อน เขาสัญญาว่าจะพัฒนาเศรษฐกิจและสร้างงานให้อินเดีย แต่กลับดำเนินนโยบายบางอย่างที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว และยังละเลยปัญหาอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชังคนมุสลิม

อย่างไรก็ตาม โมดียังคงชนะการเลือกตั้งต่อเนื่องเป็นสมัยที่สองเมื่อต้นปี ด้วยคะแนนเสียงที่มากยิ่งกว่าเดิม หลังจากที่รัฐบาลของเขาตอบโต้ปากีสถาน คู่อริเก่า ด้วยความแข็งกร้าว ในกรณีพิพาทด้านความมั่นคง

ในเดือนสิงหาคม รัฐบาลของโมดี ได้ยกเลิกสถานะเขตปกครองตนเองพิเศษของแคว้นจามมู-แคชเมียร์ ซึ่งเป็นรัฐเดียวในอินเดียที่พลเมืองส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ต่อมา ยังเห็นดีเห็นงามกับศาลฎีกา ที่อนุญาตให้มีการสร้างวิหารฮินดูบนพื้นที่ที่เคยมีกลุ่มหัวรุนแรงไปทำลายมัสยิดเก่าแก่อายุหลายร้อยปีของชาวมุสลิม ซึ่งเป็นประเด็นที่สร้างความแตกแยกในอินเดียอย่างมาก

Protests

กานชยาม ทิวารี (Ghanshyam Tiwari) นักศึกษาที่ชุมนุมประท้วงในเมืองลัคนาว ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ว่า รัฐบาลของโมดีไม่สามารถสร้างงานได้ จึงหันมาออกกฎหมายที่น่ากังวลอย่างกฎหมายสถานะพลเมือง

การประท้วงกฎหมายสถานะพลเมืองใหม่ มีพรรคคองเกรสซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านเป็นผู้สนับสนุน พรรคครองเกรสครองอำนาจในการเมืองอินเดียมากว่า 70 ปี ก่อนจะพ่ายแพ้ไปในการเลือกตั้งสองครั้งล่าสุด

พรรคคองเกรสกล่าวว่า นี่จะเป็นการต่อสู้ระหว่างผู้ที่ต้องการเห็นศาสนาและการเมืองแยกออกจากกัน และโมดี ที่มีนโยบายหนุนฮินดู

ผู้นำระดับสูงคนหนึ่งของพรรคคองเกรสบอกว่า นี่เป็นครั้งแรกที่อินเดียออกกฎหมายโดยใช้ศาสนามาเป็นตัวกำหนด แต่ตอนนี้ เห็นแล้วว่า ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลของโมดี ที่จะทำให้อินเดียกลายเป็นประเทศของผู้นับถือศาสนาฮินดู ได้ย้อนกลับมาทำร้ายโมดีเสียเอง