อินเดียอนุมัติใช้วัคซีนโควิดของ 'แอสตราเซเนกา' และ 'ภารัตไบโอเทค'

Man applies finishing touches to graffiti representing a vaccine in Kolkata

ทางการอินเดียประกาศในวันอาทิตย์ว่า ได้อนุมัติให้ใช้วัคซีนโควิด-19 จากสองบริษัทเป็นกรณีฉุกเฉิน โดยวัคซีนทั้งสองแบบนี้ล้วนผลิตในอินเดีย แบบแรกผลิตโดยบริษัทแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ซึ่งร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด ส่วนแบบที่สองผลิตโดยบริษัทภารัต ไบโอเทค (Bharat Biotech) ของอินเดียเอง

นายกรัฐมนตรีอินเดีย นเรนธรา โมดี ระบุทางทวิตเตอร์ว่า ชาวอินเดียจะต้องภาคภูมิใจที่วัคซีนทั้งสองแบบนี้ผลิตในอินเดีย

ข่าวเรื่องการอนุมัติวัคซีนมีขึ้นขณะที่ทางการอินเดียเตรียมเริ่มโครงการแจกจ่ายวัคซีนครั้งใหญ่ทั่วประเทศ โดยเริ่มมีการซ้อมการแจกจ่ายและฉีดวัคซีนไปแล้วเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา

เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขอินเดียเปิดเผยในวันอาทิตย์ว่า วัคซีนของบริษัทแอสตราเซเนกา-มหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด มีอัตราความสำเร็จในการป้องกันเชื้อไวรัสสูงกว่า 70%

จนถึงวันอาทิตย์ อินเดียมีจำนวนผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสสะสมมากกว่า 10.3 ล้านคน มากเป็นอันดับสองของโลกรองจากสหรัฐฯ และเสียชีวิตแล้วราว 150,000 คน

ส่วนที่รัสเซีย รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขรัสเซีย มิคาอิล มูราชโก กล่าวว่าได้แจกจ่ายวัคซีนสปุตนิค 5 (Sputnik V) ซึ่งผลิตในรัสเซีย ไปแล้วมากกว่า 1.5 ล้านโดส และฉีดให้ประชาชนรัสเซียไปแล้วกว่า 800,000 คน จากประชากร 147 ล้านคน

ขณะเดียวกัน ทางการบราซิล กล่าวว่า จะเริ่มแจกจ่ายวัคซีนในอีกสามสัปดาห์ โดยขณะนี้บราซิลมีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมมากเป็นอันดับสามของโลกที่มากกว่า 7.7 ล้านคน

และที่อิสราเอล ทางการเปิดเผยว่าประชาชนอิสราเอลราวสองล้านคนจะได้รับวัคซีนโดสที่สองภายในเดือนมกราคมนี้ หลังจากเริ่มฉีดวัคซีนโดสแรกของบริษัทไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค ไปเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม โดยนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู กล่าวว่า อิสราเอลคือประเทศที่ฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนได้รวดเร็วที่สุดในโลก