สู่ความเท่าเทียมและพุทธบริษัท 4 ของภิกษุณีสองทวีป

Your browser doesn’t support HTML5

สารคดีพิเศษ เรื่องราวของภิกษุณีไทย และภิกษุณีอเมริกัน ที่เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ด้วยศรัทธาแรงกล้าในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และทำหน้าที่เป็นผู้บุกเบิกหนทางให้กับสตรีที่มีเชื้อชาติและภูมิหลังที่หลากหลาย ที่ต้องการใช้ชีวิตนักบวชหญิงในรูปแบบที่พระพุทธเจ้าได้ทรงก่อตั้งไว้

ภิกษุณี หรือ ภิกขุนี เป็นหนึ่งในสี่ของพุทธบริษัทที่พระพุทธเจ้าประดิษฐานตั้งแต่สมัยพุทธกาล ในขณะที่ภิกษุณีนิกายมหายานได้รับการสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ภิกษุณีสายเถรวาท ซึ่งเป็นนิกายที่มีผู้นับถือปฏิบัติอย่างแพร่หลายในประเทศศรีลังกา และบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย ได้ขาดสิ้นลงไปเมื่อกว่าหนึ่งพันปีก่อน ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา มีความพยายามที่จะฟื้นฟูภิกษุณีสงฆ์นิกายเถรวาทขึ้นมาอีกครั้ง โดยเริ่มต้นจากประเทศศรีลังกา ในช่วงปี พ.ศ.2541 จนทำให้มีสตรีที่นับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาท เริ่มเดินทางไปศรีลังกาเพื่ออุปสมบทเป็นภิกษุณีมากขึ้น ก่อนที่การอุปสมบทเป็นภิกษุณีจะได้รับการฟื้นฟูในประเทศอื่น ๆ เช่น ออสเตรีเลีย และสหรัฐอเมริกา

ถึงแม้ในวันนี้ภิกษุณีสงฆ์นิกายเถรวาทจะได้รับการฟื้นฟู และเติบโตขึ้นมาอีกครั้ง จนมีภิกษุณีที่ได้รับการอุปสมบทแล้วอย่างน้อย 5,500 รูปในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งภิกษุณีที่มีเชื้อสายชนพื้นเมืองอเมริกัน อย่างไรก็ตาม ภิกษุณีหลายรูปยังต้องเผชิญกับอุปสรรคที่แตกต่างกันออกไป มีการต่อต้านการฟื้นฟูภิกษุณีสงฆ์จากฝ่ายพระภิกษุ ในบางประเทศ โดยให้เหตุผลว่า ภิกษุณีสงฆ์เถรวาทได้เสื่อมสิ้นลงไม่มีผู้สืบต่อ และไม่สามารถนำกลับมาได้ นอกจากนี้ ยังให้เหตุผลว่า การบวชเป็นภิกษุณีนั้นต้องอาศัยสงฆ์ทั้ง 2 ฝ่าย คือฝ่ายพระภิกษุสงฆ์ และภิกษุณีสงฆ์ ดังนั้นเมื่อไม่มีภิกษุณีสงฆ์แล้ว จึงไม่สามารถทำการอุปสมบทให้ผู้หญิงเป็นภิกษุณีฝ่ายเถรวาทได้

ในประเทศไทย และเมียนมา ยังมีการห้ามไม่ให้พระเณรบวชให้กับผู้หญิง ภิกษุณีไทยไม่ได้รับการรับรองสถานะจากมหาเถรสมาคมและจากรัฐบาลไทย ทำให้มีสถานะก้ำกึ่งในทางกฎหมาย ถึงแม้ว่าการยอมรับจากคนในสังคมจะเพิ่มขึ้นตามลำดับก็ตาม

วีโอเอไทยได้จัดทำสารคดีพิเศษสองภาษา "สู่ความเท่าเทียมและพุทธบริษัท 4 ของภิกษุณีสองทวีป" (Fulfilling Buddha's Vision: In Ordination Buddhist Nuns Seek Equality) เรื่องราวของภิกษุณีไทย และภิกษุณีอเมริกัน ที่เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ด้วยศรัทธาแรงกล้าในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และทำหน้าที่เป็นผู้บุกเบิกหนทางให้กับสตรีที่มีเชื้อชาติและภูมิหลังที่หลากหลาย ที่ต้องการใช้ชีวิตนักบวชหญิงในรูปแบบที่พระพุทธเจ้าได้ทรงก่อตั้งไว้ โดยหวังว่าหนทางที่แผ้วถางเอาไว้นั้น จะนำไปสู่การเติมเต็มพุทธบริษัท 4 สมดังพุทธประสงค์ และนำมาซึ่งความเท่าเทียมในพุทธศาสนาอย่างแท้จริง