เครือจักรภพเมินงานฉลองสิริราชสมบัติ 70 ปี ควีนเอลิซาเบธที่ 2

FILE - Britain's Queen Elizabeth II walks past Commonwealth flags in St. George's Hall at Windsor Castle, England, to mark Commonwealth Day in this image that was issued March 6, 2021.

ความรู้สึกด้านลบของประชาชนในประเทศสมาชิกเครือจักรภพหลายประเทศเกี่ยวกับราชวงศ์อังกฤษเริ่มรุนแรงขึ้นในช่วงที่สหราชอาณาจักรมีการจัดพิธีและงานเลี้ยงมากมายสำหรับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในวโรกาสที่จะทรงเป็นกษัตริย์อังกฤษพระองค์แรกที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดถึง 70 ปี

ขณะที่ ประชาชนในสหราชอาณาจักรกำลังเตรียมพร้อมสำหรับงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 7 ทศวรรษของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งหลายคนมองว่า พระองค์ทรงเป็นเหมือนภูผาอันแข็งแกร่งท่ามกลางสภาพการณ์ที่เต็มไปด้วยความปั่นป่วน ผู้คนในอดีตอาณานิคมของอังกฤษจำนวนไม่น้อยกลับมองว่า องค์ประมุขราชวงศ์อังกฤษนี้เป็นเหมือนตัวแทนของยุคจักรวรรดิซึ่งสร้างความเสียหายให้กับอดีตของตนมาจนถึงบัดนี้

โรซาเลีย แฮมิลตัส นักวิชาการชาวจาเมกา ซึ่งมีบทบาทในการดำเนินการรณรงค์ให้เปลี่ยนสถานภาพของประเทศให้เป็นสาธาณรัฐอยู่ กล่าวว่า เมื่อเธอคิดถึงพระราชินี เธอจะคิดถึงสุภาพสตรีสูงวัยที่มีบุคลิกอ่อนหวาน แต่ระบุว่า ในกรณีของอังกฤษ มันไม่ใช่เรื่องของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แต่เป็นกรณีความมั่งคั่งของราชวงศ์วินด์เซอร์ ที่ได้มาจากความเหนื่อยยากของบรรพบุรุษของเธอ และเป็นสิ่งที่ชาวจาเมกาต้องทำใจเพื่อต่อสู้กับความรู้สึกของอดีตที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวดนี้

Britain Platinum Jubilee Commonwealth

ทั้งนี้ จักรวรรดิของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในปัจจุบันนั้นอยู่ในสภาพที่ต่างจากเมื่อครั้งที่พระองค์ขึ้นครองราชย์อย่างมาก โดยแม้ในปัจจุบัน พระองค์จะยังทรงเป็นประมุขแห่งรัฐของ 14 ประเทศนอกเหนือสหราชอาณาจักร ซึ่งรวมถึง แคนาดา ออสเตรเลีย ปาปัวนิวกินี และบาฮามาส แต่ตัวเลขเพิ่งลดลงมาจาก 15 ประเทศ เพราะบาร์เบโดส ประกาศตัดสายสัมพันธ์กับราชวงศ์อังกฤษเมื่อเดือนพฤศจิกายนของปีที่แล้ว และหลายประเทศในแถบทะเลแคริบเบียน ที่รวมถึง จาเมกา เปิดเผยแผนที่จะทำตามอย่างในเร็ว ๆ นี้แล้ว

สำหรับงานฉลองสิริราชสมบัติครบรอบ 70 ปีการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่รัฐบาลประกาศให้เป็นวันหยุดทั่วประเทศเป็นเวลา 4 วัน นับตั้งแต่วันพฤหัสบดีนี้ มีการตั้งเป้าที่จะแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายต่าง ๆ ในสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพ โดยกิจกรรมที่มีกำหนดจัดนั้นจะมีขบวนพาเหรดขนาดใหญ่ในพื้นที่ใจกลางกรุงลอนดอนในวันอาทิตย์ ซึ่งมีทั้งนักแสดงคาร์นิวัลจากแคริบเบียน และนักเต้นบอลลีวู้ด เข้าร่วมด้วย

อย่างไรก็ตาม ภาพลักษณ์ของสังคมเปิดกว้างและหลากหลายของอังกฤษนั้นมีปัญหามาสักพักแล้ว หลังมีการเปิดเผยว่า ผู้คนจากประเทศแถบแคริบเบียนนับร้อยนับพันที่เดินทางเข้ามาในประเทศนี้อย่างถูกกฎหมายเป็นเวลาหลายทศวรรษกลับถูกปฏิเสธสิทธิ์ที่จะเป็นเจ้าของบ้าน หรือการสมัครงาน รวมทั้งการรับการบริการทางแพทย์ด้วย ขณะที่ บางรายประสบปัญหาถึงขั้นถูกส่งกลับประเทศ เนื่องจากไม่สามารถหาหลักฐานมาพิสูจน์สถานภาพของตนได้

รัฐบาลอังกฤษได้ออกมาขอโทษในเรื่องเหล่านี้และตกลงที่จะจ่ายเงินชดเชยให้ แต่กรณีข่าวฉาว วินด์รัช (Windrush) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองอังกฤษเกี่ยวกับการส่งตัวคนเกือบ 100 คนที่ถูกคุมขังและปฏิเสธสิทธิตามกฎหมาย ออกนอกประเทศโดยไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดกระแสความโกรธทั้งภายในอังกฤษและประเทศแถบทะเลแคริบเบียนอย่างมาก

FILE- Britain's Prince William and Kate, Duchess of Cambridge attend the 1st Battalion Irish Guards' St. Patrick's Day Parade at Mons Barracks, March 17, 2022 in Aldershot, England. Prince William and his wife Catherine are embarking on a tour to Central America and the Caribbean, even as some countries in the region mull cutting ties to the British monarchy. The couple will visit Belize, Jamaica and the Bahamas on the week-long journey that starts Saturday, March 19, 2022. (Chris Jackson/Pool via AP, file)

และการที่เจ้าชายวิลเลียมและเคท พระชายาไปยังประเทศเบลีซ จาเมกา และบาฮามาส เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีจุดประสงค์จะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์กลับนำมาซึ่งผลลัพธ์ตรงกันข้าม หลังมีภาพของทั้งสองจับมือเด็ก ๆ ที่ยืนอยู่หลังรั้วที่มีการล่ามโซ่ไว้ และภาพขณะที่ประทับในรถแลนด์โรเวอร์เปิดประทุน ท่ามกลางขบวนพาเหรดที่จัดโดยกองทัพ ปรากฏออกมาจนทำให้มีเสียงสะท้อนเกี่ยวกับความรู้สึกยุคอาณานิคมก้องไปทั่ว

นอกจากนั้น ผู้ประท้วงในจาเมกายังเรียกร้องให้อังกฤษจ่ายเงินชดใช้ให้กับกรณีจับและบังคับใช้ทาส ขณะที่ นายกรัฐมนตรีแอนดรูว์ โฮลเนสส์ ยังได้ทูลเจ้าชายวิลเลียมอย่างสุภาพด้วยว่า ประเทศของตน “กำลังเดินไปข้างหน้าอยู่” ซึ่งเป็นสัญญาณที่ชี้ว่า จาเมกาตั้งใจจะแปลงสภาพมาเป็นสาธารณรัฐแล้ว ก่อนที่ นายกรัฐมนตรีแกสตอน บราวน์ แห่งแอนติกาและบาร์บูดา จะแจ้งต่อเจ้าชายแอนดรูว์ พระโอรสของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในระหว่างการพบกันในเดือนเมษายนว่า ในอนาคต ประเทศของเขาก็จะไม่ถือว่าพระราชินีแห่งอังกฤษ เป็นประมุขแห่งรัฐอีกต่อไปเช่นกัน

ถึงกระนั้น เจ้าหน้าที่รัฐบางอังกฤษหวังว่า ประเทศที่ตั้งใจจะเปลี่ยนสถานะมาเป็นสาธารณรัฐ จะยังคงอยู่กับเครือจักรภพซึ่งเป็นองค์กรที่ประกอบไปด้วย 54 ประเทศ โดยส่วนใหญ่เคยเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษมาก่อน

Britain Commonwealth Day

รายงานข่าวระบุว่า ความมุ่งมั่นอย่างแข็งขันของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ต่อเครือจักรภพมีส่วนอย่างมากในการสร้างความสามัคคีในกลุ่มประเทศที่มีความหลากหลายและตั้งอยู่ทั่วโลก แต่องค์กรนี้ที่พยายามส่งเสริมประเด็นประชาธิปไตย ธรรมาภิบาล และสิทธิมนุษยชน กลับกำลังต้องเผชิญกับอนาคตที่ไม่แน่นอนอยู่

และขณะที่ ผู้นำประเทศสมาชิกเครือจักรภพมีกำหนดจะร่วมประชุมสุดยอดกันที่กรุงคิกาลี ประเทศรวันดา ในเดือนนี้ มีบางฝ่ายเริ่มตั้งคำถามว่า องค์กรนี้จะสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้หรือไม่ หากเจ้าฟ้าชายชาร์ลสขึ้นครองราชย์ต่อ

นอกจากประเด็นนี้แล้ว บทบาทของอังกฤษในเวทีโลกก็เป็นอีกปัจจัยที่มีส่วนทำให้อนาคตของเครือจักรภพมีความไม่แน่นอน อย่างเช่น ในกรณีของซิมบับเว ที่ถูกพักการเป็นสมาชิกองค์กรเนื่องจากสภาพการเมืองภายใต้อดีตผู้นำเผด็จการ โรเบิร์ต มูกาเบ และกำลังขอกลับเข้ามาร่วมกลุ่มอยู่นี้ เสียงสะท้อนจากหลายฝ่ายในรัฐบาลกรุงฮาราเรชี้ให้เห็นว่า เริ่มไม่สนใจอังกฤษที่ไม่ค่อยมีอิทธิพลใด ๆ ในประเทศนี้แล้ว ขณะที่ มหาอำนาจอื่น เช่น จีนและรัสเซีย กลับพยายามเร่งสร้างสัมพันธ์กับตนอย่างมากอยู่

ปีเตอร์ เนียเพดวา นักเคลื่อนไหวด้านสังคมรายหนึ่ง ให้ความเห็นว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เริ่มไม่มีความสำคัญเท่าใดแล้ว และคนส่วนใหญ่รู้จัก ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง หรือประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน มากกว่าพระราชินีอังกฤษแล้ว

อย่างไรก็ดี ซู ออนสโลว์ ผู้อำนวยการสถาบัน Institute of Commonwealth Studies จากมหาวิทยาลัยแห่งลอนดอน เชื่อว่า เครือจักรภพเป็นองค์กรที่มีความยืดหยุ่นอย่างมากและไม่ควรที่จะถูกลบเลือนไปจากเวทีโลก พร้อมระบุว่า “เครือจักรภพได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถอันโดดเด่นในการสร้างตัวตนใหม่ขึ้นมาและนำเสนอวิธีแก้ไขปัญหาในช่วงเกิดวิกฤตต่าง ๆ ได้หลายครั้ง” แม้ว่า ในเวลานี้ ยังไม่มีใครทราบแน่ว่า องค์กรนี้จะสามารถทำทุกอย่างที่ว่าได้อีกหรือไม่ก็ตาม

  • ที่มา: วีโอเอ