ศรีลังการับเงินกู้ไอเอ็มเอฟ $2,900 ล้าน ต่อลมหายใจเศรษฐกิจ

  • VOA

ศรีลังกาได้รับเงินกู้มูลค่า 2,900 ล้านดอลลาร์ จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ จุดประกายความหวังว่าจะช่วยฟื้นเศรษฐกิจศรีลังกาที่ตกต่ำที่สุดในรอบหลายสิบปีได้

เงินกู้จากไอเอ็มเอฟก้อนนี้มาถึงล่าช้ากว่าที่คาดไว้ ในขณะที่ศรีลังกากำลังเจรจากับผู้ให้กู้รายใหญ่ คือ จีน เพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้

ศรีลังกาเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเมื่อปีที่แล้ว เมื่อประเทศไม่มีเงินสดสำรองสำหรับนำเข้าสินค้าต่าง ๆ โดยเฉพาะอาหารและเชื้อเพลิง ประชาชนจำนวนมากรอต่อแถวตามสถานีจ่ายน้ำมันเพื่อซื้อน้ำมันที่มีจำกัด รัฐบาลต้องตัดไฟฟ้าเป็นเวลาหลายชั่วโมงต่อวันเพื่อประหยัดไฟ

และแม้สถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้นแล้ว ศรีลังกายังคงเผชิญกับภารกิจหนักอึ้งในการฟื้นฟูบูรณะเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อระดับสูง และรัฐบาลยังต้องระงับการชดใช้หนี้ต่างประเทศในขณะที่ปริมาณเงินสดสำรองลดลงอยู่ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

ประธานาธิบดีรานิล วิกรมสิงเห แถลงผ่านวิดีโอว่า "ศรีลังกาไม่ได้ถูกทั่วโลกมองว่าล้มละลายอีกต่อไป" และ "เงินกู้ก้อนนี้คือหลักประกันจากประชาคมโลกว่าศรีลังกามีศักยภาพในการปรับโครงสร้างหนี้และดำเนินกิจกรรมทางการเงินเป็นปกติได้"

Sri Lankan president Ranil Wickremesinghe, front left, greets children as airforce commander during the 75th Independence Day ceremony in Colombo, Sri Lanka, Feb. 4, 2023.

ไอเอ็มเอฟจะให้เงินกู้ทันที 333 ล้านดอลลาร์แก่รัฐบาลศรีลังกา จากนั้นจะทะยอยให้เพิ่มในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยข้อตกลงนี้จะช่วยให้ศรีลังกาเข้าถึงเงินกู้ทั้งหมด 7,000 ล้านดอลลาร์จากทั้งไอเอ็มเอฟและสถาบันการเงินระหว่างประเทศอื่น ๆ อ้างอิงจากสำนักงานประธานาธิบดีศรีลังกา

อย่างไรก็ตาม เงินกู้จากไอเอ็มเอฟมาพร้อมเงื่อนไขที่เข้มงวด รวมถึงการใช้นโยบายรัดเข็มขัดการใช้จ่ายของภาครัฐ และยกเลิกนโยบายบางอย่างที่เป็นสาเหตุของวิกฤตในขณะนี้ โดยก่อนหน้านี้ รัฐบาลกรุงโคลอมโบได้ใช้มาตรการเพิ่มภาษี และลดเงินอุดหนุนด้านไฟฟ้าและเชื้อเพลิงไปแล้ว

นักวิเคราะห์เชื่อว่า รัฐบาลศรีลังกาอาจเผชิญกับการประท้วงจากสหภาพแรงงานต่าง ๆ สืบเนื่องจากแผนแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิรูปการเงิน

A worker fills petrol in an motorbike at a fuel station on March 21, 2023.

นอกจากนี้ ศรีลังกายังต้องจัดทำกฎหมายต่อต้านการคอร์รัปชันที่ข้มงวดกว่าเดิม ตามเงื่อนไขของไอเอ็มเอฟที่เชื่อว่าปัญหาการทุจริตคือส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้ศรีลังกาเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ต้องมีนโยบายปราบปรามคอร์รัปชั่นเป็นส่วนหนึ่งของการรับความช่วยเหลือทางการเงิน

ปีเตอร์ เบรเออร์ หัวหน้าฝ่ายภารกิจศรีลังกาของไอเอ็มเอฟ กล่าวในวันอังคารว่า "เราเน้นย้ำความสำคัญของการต่อต้านทุจริตและการปฏิรูปรัฐบาล ในฐานะเสาหลักของโครงการนี้ "

ขณะนี้เริ่มมีสัญญาณทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น เมื่อนักท่องเที่ยวเริ่มกลับเข้าไปในศรีลังกาหลังการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ถึงกระนั้นสถานการณ์การเงินของประเทศยังคงเปราะบาง และครอบครัวจำนวนมากยังต้องขัดสนและต้องลดปริมาณอาหารที่ให้แก่เด็ก ๆ ลงราวครึ่งหนึ่งของปริมาณปกติ อ้างอิงจากผลสำรวจขององค์กร Save the Children ในเดือนนี้

  • ที่มา: วีโอเอ