ภาคประชาสังคมไทยส่งเสียงเตือน 'กลุ่มทุนจีนสีเทา' ในธุรกิจรีไซเคิลขยะ

  • VOA

สภาพโรงเรือนและโกดังภายในอาณาบริเวณของโรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่ ต.คลองกิ่ว อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ซึ่งภายในพื้นที่ทั้งหมด 88 ไร่ ของโรงงาน มีโกดังโรงงานรวมประมาณ 27 แห่ง เกือบทั้งหมดดำเนินการโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบการอย่างถูกต้อง เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567

ภาคประชาสังคมส่งเสียงเตือน การเข้ามาของกลุ่มทุนจีนสีเทาในแวดวงธุรกิจรีไซเคิลขยะกำลังผลักประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์รวมที่ทิ้งขยะพิษ หลังพบว่า ธุรกิจรีไซเคิลลักลอบนำเข้าขยะอันตรายจากต่างประเทศมาจัดการในไทย และสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนรอบข้าง

ผู้เชี่ยวชาญยังเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งยกระดับมาตรการปกป้องสิ่งแวดล้อม และเสริมสร้างระบบการกำกับดูแลการดำเนินกิจการที่ก่อมลพิษให้เข้มงวดรัดกุมมากขึ้น เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนจากมลพิษและสารพิษปนเปื้อน

วิกฤตมลพิษขยะที่ ต.คลองกิ่ว

ย้อนไปเพียงราว 10 ปีก่อน ต.คลองกิ่ว อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี เป็นเพียงตำบลชนบทเล็ก ๆ รายล้อมไปด้วยสวนมันสำปะหลังและสับปะรด อย่างไรก็ตาม สุรศักดิ์ เอี่ยมสากล ชาวตำบลคลองกิ่ว วัย 44 ปี กล่าวว่า วิถีชีวิตและสภาพแวดล้อมของชุมชนเกษตรกรรมที่เงียบสงบแห่งนี้ กลับเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อ บริษัท อิฟง จำกัด กลุ่มทุนจากประเทศจีนได้เข้ามาเปิดโรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ บนพื้นที่ 88 ไร่ ในพื้นที่ เมื่อปี 2560

สุรศักดิ์ ผู้ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญของชุมชนที่ออกมาเรียกร้องต่อสู้ในประเด็นปัญหามลพิษจากโรงงานรีไซเคิลขยะ เปิดเผยว่า นับตั้งแต่โรงงานแห่งนี้เปิดตัวในพื้นที่ ชุมชนโดยรอบต้องเผชิญกับปัญหามลพิษและการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง

สุรศักดิ์ เอี่ยมสากล หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบมลพิษขยะจากโรงงานรีไซเคิล ที่ ต.คลองกิ่ว อ. บ้านบึง จ.ชลบุรี ยืนท่ามกลางต้นยูคาลิปตัสที่ยืนต้นตายภายในพื้นที่สวนของเขา เนื่องจากน้ำเสียปนเปื้อนสารอันตรายที่ไหลมาจากโรงงานรีไซเคิลขยะที่อยู่ติดกัน เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567

สวนยูคาลิปตัสของสุรศักดิ์ที่อยู่ถัดจากโรงงานเพียงรั้วกั้น เป็นหนึ่งในจุดที่เห็นผลกระทบจากโรงงานขยะอย่างชัดเจนที่สุด

“น้ำเสียจากโรงงานที่มีค่าความเค็มและเต็มไปด้วยสารปนเปื้อนได้ไหลท่วมสวนยูคาลิปตัส จนทำให้ต้นยูคาลิปตัสจำนวนมากยืนต้นตาย จากนั้นน้ำเสียเหล่านี้จะไหลลงสู่ลำธารธรรมชาติที่อยู่ใกล้เคียง ทำให้แหล่งน้ำผิวดินธรรมชาติปนเปื้อน” สุรศักดิ์ กล่าว

“น้ำเสียยังอาจซึมลงดินและปนเปื้อนน้ำบาดาล นี่เป็นปัญหาร้ายแรงมาก เพราะประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่นี้ไม่สามารถเข้าถึงน้ำประปาได้ และยังคงต้องใช้น้ำจากบ่อบาดาลเพื่อการอุปโภคบริโภค”

จากการทดสอบตัวอย่างน้ำเสียและดินโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม ณ เดือนกันยายน 2566 พบว่าสภาพแวดล้อมโดยรอบศูนย์บำบัดขยะใน อ.บ้านบึง มีการปนเปื้อนของโลหะหนักที่เป็นพิษในระดับที่เป็นอันตราย

ตัวอย่างเช่น การอ่านระดับแมงกานีสในตัวอย่างดินสูงถึง 3,240 มก./กก. ซึ่งสูงกว่าขีดจำกัดที่ปลอดภัยมากที่ 5 มก./กก. ในทำนองเดียวกัน ระดับของสังกะสี (872 มก./กก.) ทองแดง (244 มก./กก.) นิกเกิล (145 มก./กก.) ตะกั่ว (83 มก./กก.) แคดเมียม (13 มก./กก.) และสารหนู (8.7 มก./กก.) เกินขีดจำกัดความปลอดภัยอย่างมากเช่นกัน ตามข้อมูลที่รวบรวมโดยสุรศักดิ์ ซึ่งวีโอเอไม่สามารถยืนยันความถูกต้องได้

สุรศักดิ์ เอี่ยมสากล หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบมลพิษขยะจากโรงงานรีไซเคิล ที่ ต.คลองกิ่ว อ. บ้านบึง จ. ชลบุรี ชี้ไปยังจุดต้นตอการรั่วไหลของน้ำเสียปนเปื้อนมลพิษ ที่ล้นจากบ่อกักเก็บน้ำเสียของโรงงานออกสู่สิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567

นอกจากน้ำเสียแล้ว บิ๊ก ชาวบ้านอีกคนหนึ่งซึ่งขอไม่ใช้ชื่อเต็มของเขาเนื่องจากความกังวลเรื่องการตอบโต้จากบริษัทจีน บอกกับวีโอเอไทยว่าโรงงานรีไซเคิลขยะยังปล่อยฝุ่นควันสีดำ และส่งกลิ่นเหม็นฉุน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่โดยรอบ

“ทุกครั้งเมื่อโรงงานเริ่มเดินเครื่องจักร ชุมชนโดยรอบในรัศมีหลายกิโลเมตรจะได้กลิ่นเหม็นรุนแรงโชยตามลมจากโรงงาน” บิ๊ก กล่าว

อุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรีจึงได้ออกคำสั่งให้โรงงานรีไซเคิลขยะแห่งนี้ระงับการดำเนินการทั้งหมด ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2566

การตรวจสอบเพิ่มเติมในวันที่ 7 มกราคม และ 1 มีนาคม 2567 โดยอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี ยังเผยให้เห็นหลักฐานของการละเลยมาตรการป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินการรีไซเคิลขยะ จากสภาพภายในโรงงานที่เต็มไปด้วยกองขยะอันตราย และเศษซากจากกระบวนการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์เกลื่อนไปทั่ว

อย่างไรก็ตาม สุรศักดิ์กล่าวว่า แม้จะมีคำสั่งระงับ แต่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้กับโรงงานยังคงสังเกตเห็นสัญญาณของกิจกรรมที่ดำเนินอยู่ รวมถึงการปล่อยมลพิษอย่างต่อเนื่องจากโรงงาน

วีโอเอไทยได้พยายามติดต่อ บริษัท อิฟง จำกัด แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ

เว็บไซต์ข่าวผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า ตำรวจกองทรัพยากรธรรมชาติและอาชญากรรมสิ่งแวดล้อมได้เข้าตรวจค้นสถานที่ดังกล่าวเมื่อวันที่ 8 มีนาคม ยึดขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำเข้าอย่างผิดกฎหมายจากประเทศจีนจำนวน 50 ตัน และจับกุมผู้จัดการของบริษัทในข้อหาสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและมีสารอันตรายอย่างผิดกฎหมาย เขาปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด

พิษทุนขยะจีนกระทบทั่วภูมิภาค

สรายุทธ์ สนรักษา ผู้ประสานงานเครือข่ายรักแม่พระธรณี ซึ่งเป็นกลุ่มนักสิ่งแวดล้อมที่ทำงานด้านสิทธิที่ดินและการเกษตร กล่าวกับวีโอเอไทยว่า หลายพื้นที่ทั่วประเทศต่างก็พบปัญหาจากโรงงานขยะจีน เช่นเดียวกับที่ชาวคลองกิ่วเผชิญ

เขากล่าวว่า ก่อนหน้ารัฐบาลจีนจะออกนโยบายห้ามนำเข้าขยะในปี 2561 เพื่อปกป้องสภาพแวดล้อมและพลเมืองของตนจากมลพิษขยะ จีนเป็นศูนย์กลางระดับโลกด้านการรีไซเคิลและกำจัดขยะอันตราย โดยมีอุตสาหกรรมการจัดการขยะขนาดใหญ่ในประเทศที่ให้บริการกำจัดขยะแก่ลูกค้าทั่วโลก

แม้ว่าโรงงานรีไซเคิลขยะแห่งนี้จะถูกให้หยุดประกอบกิจการนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 แต่ยังคงพบเห็นว่า แรงงานต่างด้าวจำนวนมากยังคงทำงานตามปกติภายในโรงงานที่ ต.คลองกิ่ว อ.บ้านบึง จ. ชลบุรี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567

จากสถิติของกรมโรงงานอุตสาหกรรมพบว่า ประเทศไทยมีธุรกิจขยะเปิดดำเนินการแล้วกว่า 6,000 แห่งนับตั้งแต่จีนสั่งห้าม ซึ่งหลายธุรกิจเป็นเจ้าของหรือเกี่ยวข้องกับนักลงทุนชาวจีน ในปี 2566 จำนวนธุรกิจขยะเพิ่มขึ้นเป็น 9,700 แห่ง

สรายุทธ์ กล่าวว่า ธุรกิจขยะเหล่านี้จำนวนมากไม่ปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติที่ดีในการปกป้องสิ่งแวดล้อมและการจัดการและกำจัดขยะอย่างเหมาะสม ซึ่งส่งผลให้เกิดวิกฤตขยะพิษในประเทศไทยที่เลวร้ายยิ่งขึ้น

รายงานของกรมควบคุมมลพิษ ชี้ว่ามีการค้นพบสถานที่ทิ้งขยะอันตรายผิดกฎหมายมากกว่า 79 ครั้งระหว่างปี 2555-2564

“ประเทศไทยถือเป็นสวรรค์สำหรับธุรกิจขยะของกลุ่มทุนจีน เนื่องจากระบบอุปถัมภ์เอื้อพวกพ้อง การทุจริต และการบังคับใช้กฎหมายที่อ่อนแอ” สรายุทธ์ กล่าว

ยิ่งไปกว่านั้น เขากล่าวว่า แนวนโยบายส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจการจัดการขยะในไทย นับตั้งแต่การประกาศแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะของประเทศ ในปี 2559 ที่ได้แก้ไขกฎหมายหลายฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการจดทะเบียนธุรกิจและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ยังเอื้อให้กลุ่มทุนจีนสีเทาเหล่านี้ให้สามารถลงทุนในไทยได้ง่ายขึ้น ขณะที่มีข้อสงสัยว่าเกิดการลดเพดานมาตรฐานการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยสาธารณะลงหรือไม่

กองขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะอุตสาหกรรมจำนวนมาก กองสุมกันอย่างไม่เป็นระเบียบ สามารถพบเห็นได้ทั่วไปบริเวณภายในโรงงานรีไซเคิลขยะที่ ต.คลองกิ่ว อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567

“เราต้องการให้รัฐบาลเพิ่มความเข้มข้นการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมให้แข็งแกร่งขึ้น เพื่อจะทำให้สามารถกำกับดูแลให้ผู้ประกอบธุรกิจขยะมีแนวทางปฏิบัติที่ดีขึ้น” สรายุทธ์ กล่าว

VOA Thai ได้ติดต่อไปยัง ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จตุพร บุรุษพัฒน์ เพื่อถามความเห็นเรื่องความเอาจริงเอาจังเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาขยะที่เป็นอันตรายต่อชุมชนจากโรงงานที่มีทุนจีนอยู่เบื้องหลัง

จตุพร กล่าวว่า กระทรวงฯ ได้ตั้งคณะอนุกรรมการ ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยคณะอนุกรรมการชุดนี้ ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน จะมีหน้าที่กวดขันดูแลกิจการที่อาจส่งอันตรายต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมในทุกจังหวัดทั่วไทย โดยจะมีการประเมินความเสี่ยงในแต่ละกิจการ รวมถึงกวดขันให้แต่ละผู้ประกอบการดำเนินกิจการตามหลักการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด

  • รายงานโดย ปรัชญ์ รุจิวนารมย์