ทีมนักวิจัยจากสหรัฐฯพยายามหาคำตอบว่าสัตว์ป่าในแอฟริกาชนิดใดบ้างที่มีเชื้ออีโบล่า

  • Jessica Berman

Fruit bat Ebola

เชื้ออีโบล่าเป็นเชื้อไวรัสโบราณที่วิวัฒนาการมานานหลายพันปีในเขตลุ่มน้ำคองโก พบได้ตามธรรมชาติในสัตว์ป่าหลากหลายประเภท

Your browser doesn’t support HTML5

สัตว์ป่าในแอฟริกาชนิดใดบ้างที่มีเชื้ออีโบล่า

ครั้งแล้วครั้งเล่าที่คนเราติดเชื้ออีโบล่าจากการสัมผัสกับสัตว์ป่าที่มีเชื้ออีโบล่าในตัว นำไปสู่ห่วงโซ่ของการระบาดจากสัตว์สู่คนจนเป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาดของเชื้อโรค

ขณะนี้ กลุ่มอนุรักษ์สัตว์ป่า Wildlife Conservation Society ที่ตั้งอยู่ในสหรัฐฯ ต้องการค้นหาคำตอบว่ามีสัตว์ป่าชนิดใดบ้างที่เป็นแหล่งบ่มเพาะของเชื้ออีโบล่าอยู่ในตัวตามธรรมชาติ เพื่อหาทางตัดช่องทางไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้ออีโบล่ามาสู่คน

ทางกลุ่มได้นำทีมนักวิทยาศาสตร์เดินทางเพื่อทำการวิจัยภาคสนามเพื่อศึกษาหมูป่า Red River ในสาธารณรัฐคองโกว่าเป็นพาหะหรือแหล่งบ่มเพาะของเชื้ออีโบล่าหรือไม่ ส่วนสัตว์ป่าที่เป็นพาหะของเชื้ออีโบล่าที่เป็นรู้กันดีอยู่แล้วได้แก่ค้างคาวกินผลไม้และลิงหางสั้นหรือ apes ซึ่งรวมทั้งลิงกอริลล่าด้วย

คุณ Steve Osofsky สัตวแพทย์และหัวหน้าฝ่าย Wildlife Health and Health Policy แห่งกลุ่มอนุรักษ์สัตว์ป่านี้ เขากล่าวว่าทีมนักวิจัยได้พัฒนาวิธีตรวจหาเชื้ออีโบล่าในมูลของสัตว์ ทีมงานสามารถเดินไปทั่วเขตป่าเพื่อเก็บตัวอย่างมูลของลิงชิมแปนซีและลิงกอริลล่าเพื่อนำไปทดสอบหาเชื้ออีโบล่า ในเขตที่มีการระบาดของเชื้ออีโบล่ามีสัตว์ที่รอดจากการระบาดและสุขภาพแข็งแรงดี ทีมงานพบหลักฐานจากการทดสอบมูลสัตว์ที่ชี้ว่าสัตว์เหล่านี้ผ่านการได้รับเชื้ออีโบล่าและสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา นี่ช่วยให้ทีมนักวิจัยค้นพบว่ามีสัตว์ป่ากลุ่มใดบ้างที่เคยได้รับเชื้ออีโบล่าแล้ว

คุณ Osofsky ชี้ว่าข้อมูลนี้ช่วยให้ประชาชนที่อาศัยในชุมชนที่อยู่ใกล้ชิดกับสัตว์ป่าเหล่านี้เตรียมตัวป้องกันตนเองจากเชื้ออีโบล่า

การศึกษาวิจัยถึงแอนติบอดี้ต่อเชื้ออีโบล่าในมูลสัตว์นี้ตีพิมพ์ในวารสาร PLoS Neglected Tropical Diseases ไปเมื่อเร็วๆนี้

คุณ Osofsky กล่าวว่าทีมนักวิจัยได้ติดตั้งกล้องที่ควบคุมด้วยระบบรีโมทไว้ใกล้บนต้นไม้ผลหลายต้นเพื่อเฝ้าดูกิจกรรมของสัตว์ป่าในบริเวณ คุณ Osofsky ชี้ว่านักวิทยาศาสตร์สนใจประเด็นที่สัตว์ป่าแต่ละชนิดมีบทบาทที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของกันและกัน พวกเขาหวังว่าจะข้อมูลนี้จะช่วยลดพฤติกรรมเสี่ยงของมนุษย์ที่จะเป็นต้นเหตุให้อีโบล่าแพร่ระบาดไปยังหมู่บ้านใกล้เคียง

คุณ Osofsky กล่าวว่าเมื่อสัตว์ป่าเหล่านี้เกิดตายลง นี่จะเป็นสัญญาณเตือนล่วงหน้าว่าอาจจะเกิดการระบาดของเชื้ออีโบล่าในสัตว์ป่าบริเวณใกล้เคียง เขากล่าวว่าเมื่อคนในหม่บ้านหาทางป้องกันด้วยการไม่สัมผัสกับสัตว์ป่าที่ตายลงอย่างน่าสงสัย ก็จะช่วยลดโอกาสแพร่ระบาดของเชื้ออีโบล่าจากสัตว์สู่คนได้ เขากล่าวว่าเท่าที่ผ่านมา ยังไม่เคยเห็นการระบาดของอีโบล่าในหมู่บ้านที่ชาวบ้านถือว่าเหตุสัตว์ป่าตายอย่างน่าสงสัยเป็นสัญญาณเตือนล่วงหน้า

กลุ่มอนุรักษ์สัตว์ป่าได้เตือนชาวบ้านในพื้นที่ว่าไม่ควรนำซากสัตว์ป่าที่ตายในป่าไปปรุงเป็นอาหาร

กลุ่มนักอนุรักษ์สัตว์ป่ายังกำลังพยายามหาทางส่งเสริมให้บรรดาบริษัทตัดไม้เลิกล่าสัตว์ป่าที่อาจจะเป็นตัวบ่มเพาะและพาหะของเชื้ออีโบล่า เช่นเดียวกับการพยายามปกป้องสัตว์ป่าจากพรานล่าที่เข้าล่าสัตว์ป่าในบริเวณที่เป็นแหล่งของเชื้ออีโบล่าด้วย