รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เน้นถึงความสำเร็จของภารกิจอพยพผู้คนจากสนามบินนานาชาติฮามิด คาร์ไซ ขณะที่สหรัฐฯ ยุติสงครามนาน 20 ปีเมื่อปลายเดือนสิงหาคม
รัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่า การอพยพผู้คนโดยเครื่องบินครั้งใหญ่นี้ สามารถอพยพชาวอเมริกันส่วนใหญ่จากอัฟกานิสถานได้ เช่นเดียวกับล่ามชาวอัฟกัน นักเคลื่อนไหว ผู้สื่อข่าว และผู้คนกลุ่มอื่นๆ หลายพันคนที่ตกเป็นเป้าของกลุ่มตาลิบัน
อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้คนอีกหลายพันคนที่ยังตกค้างในอัฟกานิสถาน โดยนักการทูตสหรัฐฯ เจ้าหน้าที่กองทัพ และเจ้าหน้าที่พลเรือนที่มีส่วนร่วมกับภารกิจอพยพ กล่าวกับวีโอเอว่ากระบวนการอพยพนี้ไร้การวางแผนที่ดีและทำให้ผู้คนจำนวนมากที่ควรถูกอพยพ กลับยังต้องตกค้างอยู่ในประเทศนี้
นโยบาย “อเมริกันมาก่อน”
ชาวอเมริกันและผู้ที่มีถิ่นพำนักถาวรในสหรัฐฯ ได้รับสิทธิ์ในการอพยพก่อนเป็นลำดับแรก อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวของสหรัฐฯ ที่ขอสงวนนาม บอกกับวีโอเอว่า กระบวนการตัดสินคุณสมบัติผู้ที่มีสิทธิ์ขึ้นเที่ยวบินอพยพนั้นเป็นไปอย่างไร้ระเบียบ
แหล่งข่าวคนดังกล่าวอธิบายว่า หากผู้ที่ต้องการขึ้นเที่ยวบินแสดงหนังสือเดินทางสหรัฐฯ หรือกรีนการ์ด ก็จะได้รับสิทธิ์ในการขึ้นเที่ยวบิน แต่หากผู้ที่ต้องการอพยพไม่มีเอกสารดังกล่าวก็อาจขึ้นเที่ยวบินได้เช่นกัน หากรอจนกระทั่งเจ้าหน้าที่นำตัวพวกเขาขึ้นไป
ฮาซีบ คามาล อดีตล่ามผู้ถือสองสัญชาติ พยายามฝ่าฝูงชนที่สนามบินและแสดงหนังสือเดินทางสหรัฐฯ ของเขา จนกระทั่งนาวิกโยธินรายหนึ่งคว้าตัวเขาไว้
คามาลบอกกับวีโอเอว่า สมาชิกทั้งหมดในครอบครัวขับรถมาส่งเขาที่สนามบินเพื่อบอกลาก่อนเผชิญกับฝูงชนรอบประตูทางเข้าสนามบิน ตัวคามาล พ่อของเขา และพี่น้องของเขาคนหนึ่งพลัดเข้าไปในฝูงชนก่อนที่เจ้าหน้าที่จะปิดประตูสนามบิน ทำให้เขาถูกตัดจากแม่ พี่น้องของเขาที่เหลืออีกสี่คน และเจ้าสาวที่เขาเพิ่งแต่งงานด้วยเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม
เขาขอร้องเหล่านาวิกโยธินให้อนุญาตให้พ่อและพี่น้องของเขาที่เข้ามาในประตูให้สามารถร่วมเดินทางกับเขาในเที่ยวบินอพยพด้วย แม้ว่าคนเหล่านี้จะมีเพียงเอกสารของทางอัฟกันและไม่มีเอกสารของทางสหรัฐฯ เลยก็ตาม จนสุดท้ายเจ้าหน้าที่ก็ยอมอนุญาตให้สมาชิกครอบครัวอีกสองคนเดินทางไปด้วยได้
ขณะนี้ คามาลและบิบิ ซาร่า น้องของเขา อาศัยอยู่กับครอบครัวในรัฐเวอร์จิเนีย ขณะที่พ่อของเขายังอยู่ในขั้นตอนการตรวจคนเข้าเมืองในค่ายทหารฟอร์ท ลี ในรัฐเวอร์จิเนียเช่นกัน
กฎที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา
แหล่งข่าวการทูตที่ขอสงวนนามคนหนึ่ง บอกกับวีโอเอว่า กฎในการคัดเลือกผู้อพยพนั้นเปลี่ยนไปมาตลอด เช่น สมาชิกครอบครัวของชาวอเมริกันหรือผู้มีถิ่นพำนักถาวรในสหรัฐฯ หรือผู้สมัครขอวีซ่าอพยพแบบพิเศษ อาจได้รับอนุญาตให้เข้าสนามบินในวันหนึ่ง แต่ในวันถัดมาพวกเขาอาจไม่ได้รับอนุญาต
แหล่งข่าวคนดังกล่าวระบุว่า ในวันแรกๆ ของการอพยพ เจ้าหน้าชาวอาฟกานิสถานของสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงคาบูล ได้รับอีเมลแจ้งให้ไปยังประตูด้านตะวันออกของสนามบิน และสมาชิกครอบครัวของพวกเขาได้เข้าขั้นตอนการอพยพแม้จะไม่มีเอกสารเช่น หนังสือเดินทางของอัฟกานิสถาน บัตรประจำตัวประชาชน หรือเอกสารขอวีซ่าอพยพแบบพิเศษ และไม่มีการตรวจสอบว่าพวกเขามีแนวโน้มตกเป็นเป้าของกลุ่มตาลิบันมากน้อยเพียงใด
แหล่งข่าวการทูตผู้นี้ระบุว่า เพียงพวกเขาบอกว่าตนเป็นเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของสถานทูตหรือเป็นสมาชิกครอบครัว พวกเขาก็ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในสนามบินแล้ว โดยฝั่งเจ้าหน้าที่เองก็ต้องตัดสินใจอย่างรวดเร็วว่า จะส่งตัวพวกเขากลับไปที่จุดตรวจของกลุ่มตาลิบันและอาจทำให้พวกเขาเผชิญกับความเสี่ยง หรือจะอนุญาตให้พวกเขาอพยพได้
ทั้งนี้ ผู้ที่ไม่ใช่ชาวอเมริกัน หรือผู้มีถิ่นพำนักถาวรในสหรัฐฯ หรือมีวีซ่าเข้าสหรัฐฯ จะถูกส่งไปยังประเทศที่สามเพื่อเข้ากระบวนการขอลี้ภัย
แต่ในวันถัดมา มีการเพิ่มแนวทางที่รัดกุมขึ้น โดยสมาชิกครอบครัวของชาวอเมริกันหรือผู้มีถิ่นพำนักถาวรในสหรัฐฯ รวมทั้งพ่อแม่พี่น้อง ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าสนามบินได้ อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่บางส่วนก็ปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวอย่างเข้มงวด แต่บางส่วนก็ผ่อนปรน
ทั้งนี้ มีผู้ที่ได้รับอนุญาตให้อพยพได้เนื่องจากกฎที่ยืดหยุ่นนี้ นายคามาลระบุว่า เขาพบกับครอบครัวหนึ่งที่มีสมาชิกครอบครัวถือสัญชาติอเมริกันเพียงสองคน แต่นำสมาชิกในครอบครัว 30 คนมาด้วย และเขาไม่เคยทราบมาก่อนว่าจะสามารถนำสมาชิกครอบครัวทั้งหมดอพยพมาด้วยได้
ภารกิจ 24 ชั่วโมง
นับตั้งแต่กลุ่มตาลิบันยึดกรุงคาบูลได้ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ นำนักการทูตจากทั่วโลกมาปฏิบัติภารกิจที่กรุงคาบูล โดยเจ้าหน้าที่เหล่านี้และกองกำลังสหรัฐฯ ทำงานตลอดเวลาเพื่อช่วยอพยพชาวอเมริกันและชาวอัฟกันที่เปราะบางออกมาให้ได้มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม กลุ่มมนุษยธรรมที่มีส่วนร่วมกับภารกิจอพยพครั้งนี้ระบุว่า แม้นักการทูตและทหารจะปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ แต่ภารกิจนี้ก็เต็มไปด้วยปัญหา
มาร์ค เจคอบสัน หนึ่งในผู้ปฏิบัติภารกิจอพยพและอดีตรองที่ปรึกษาด้านการเมืองของกองกำลังรักษาความมั่นคงนานาชาติ ระบุว่า ในช่วงเวลาที่ย่ำแย่ที่สุดนั้น ดูเหมือนจะไม่มีการกำหนดกฎเกณฑ์ว่าใครได้รับอนุญาตให้อพยพเลยด้วยซ้ำ และกฎเกณฑ์ที่มีอยู่ก็อาจเปลี่ยนได้ทุกชั่วโมง อีกทั้งกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ก็ประสานงานกันไม่ดีพอจนเขาไม่รู้ว่าควรเข้าหาใครเมื่อเกิดปัญหาขึ้น
วีโอเอสอบถามทำเนียบขาวว่า นโยบายที่เปลี่ยนไปมาและการขาดการประสานงานระหว่างกระทรวงทั้งสอง ทำให้ชาวอัฟกันที่เปราะบางยังคงติดค้างในอัฟกานิสถาน ในขณะที่ผู้ที่ไม่อยู่ในความเสี่ยงกลับได้รับการอพยพหรือไม่
ต่อข้อสอบถามนี้ เจน ซากี โฆษกทำเนียบขาว ระบุว่า ทางทำเนียบขาวไม่สามารถยืนยันข้อมูลดังกล่าวได้ แต่สามารถแจ้งได้ว่า ผู้คนราว 117,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอัฟกันหรือไม่ใช่ชาวอเมริกัน ได้รับการอพยพออกมา ซึ่งเป็นการอพยพทางอากาศครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ
ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลของสัญชาติและสถานะเข้าเมืองของผู้อพยพ แต่เมื่อวันพุธ ทำเนียบขาวระบุว่า ผู้อพยพ 77 เปอร์เซ็นต์ที่เดินทางถึงสหรัฐฯ ตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม เป็นชาวอัฟกันที่ถือวีซ่าสหรัฐฯ กำลังสมัครขอวีซ่าอพยพแบบพิเศษ หรือได้รับการเสนอชื่อให้เป็นผู้ลี้ภัย
เน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า มีผู้คนจำนวน 31,107 คน เดินทางจากอัฟกานิสถานถึงสหรัฐฯ ช่วงระหว่างวันที่ 17-31 สิงหาคม
วาร์เรน บินฟอร์ด ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายของมหาวิทยาลัยโคโลราโด เป็นหนึ่งในอาสาสมัครออนไลน์ที่ช่วยชาวอัฟกันราว 1,400 คนให้อพยพออกมาได้ ระบุว่า กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ มีหน้าที่อพยพผู้คนออกมาจากเขตสงคราม ทำให้กองทัพสหรัฐฯ ไม่สามารถสั่งการภารกิจทั้งหมดได้ และต้องปรับแนวทางเอาตามสถานการณ์เฉพาะหน้า
แหล่งข่าวอีกรายที่มีส่วนช่วยในภารกิจอพยพและขอสงวนนาม ระบุว่า กระบวนการอพยพเป็นไปอย่างโกลาหล โดยกลุ่มผู้ที่ต้องการอพยพ 130 คนที่เขาช่วยเหลือ ถูกปฏิเสธไม่ให้ขึ้นเครื่องบินหลังรอขึ้นเครื่องเป็นเวลา 18 ชั่วโมง โดยเครื่องบินบินออกไปพร้อมที่นั่งว่างเปล่า
แหล่งข่าวอีกคน ซึ่งเป็นอดีตเจ้าหน้าที่รัฐบาลของสหรัฐฯ ที่มีส่วนในภารกิจนี้ ยืนยันว่า ชาวอัฟกันส่วนใหญ่ในกลุ่มที่เขาช่วยเหลือและมีสมาชิกในครอบครัวเป็นชาวอเมริกัน ถูกปฏิเสธให้ขึ้นเครื่องบิน แม้พวกเขาจะมีชื่อในเที่ยวบินก็ตาม โดยนาวิกโยธินที่เป็นผู้คัดกรองให้เหตุผลว่า ได้รับคำสั่งจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ให้อนุญาติให้เฉพาะชาวอเมริกันและผู้มีถิ่นพำนักถาวรขึ้นเครื่องบินเท่านั้น
แหล่งข่าวผู้นี้ระบุว่า ไม่ควรมีการใช้กฎเกณฑ์ดังกล่าวกับผู้ที่อยู่ในความเสี่ยง เช่น ลูกจ้างขององค์กรด้านมนุษยธรรม ผู้ถือวีซ่าอพยพแบบพิเศษ ผู้หญิงที่มีบทบาทนำในสังคม และครอบครัวของพวกเขา
แหล่งข่าวจากกลุ่มที่ให้ความช่วยเหลือ ระบุด้วยว่า การอพยพครั้งนี้ขึ้นอยู่กับทั้งโชคชะตา การติดต่อสื่อสารภายในสนามบินและกับหน่วยงานของสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตัน การผ่านด่านจุดตรวจของกลุ่มตาลิบัน การผ่านเหล่านาวิกโยธินที่ประตูสนามบิน และการเข้ามาในอาคารผู้โดยสารจนมาถึงเครื่องบิน
ชาวอัฟกันกลุ่มหนึ่งได้รับการช่วยเหลือจากภารกิจ “สับปะรดด่วน” (Pineapple Express) ซึ่งเป็นภารกิจลับของกลุ่มทหารผ่านศึกอเมริกัน ที่ฝืนคำสั่งออกจากบริเวณที่กำหนด และเดินทางไปช่วยชาวอัฟกันนอกสนามบิน โดยแหล่งข่าวคนเดิมระบุว่า พวกเขารู้สึกเสียใจมากที่ชาวอัฟกันที่อยู่ในความเสี่ยงอย่างมากและเข้าไม่ถึงเครือข่ายความช่วยเหลือยังต้องตกค้างอยู่ในอัฟกานิสถาน
คนหน้างานก็เจ็บปวด
เจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่มีส่วนร่วมกับภารกิจนี้ ระบุว่า พวกเขาต้องให้สิทธิ์อพยพแก่ชาวอเมริกันก่อน และเจ้าหน้าที่หน้างานก็รู้สึกเจ็บปวดเช่นกันที่ไม่สามารถช่วยให้ทุกคนอพยพได้
ทางการสหรัฐฯ กล่าวว่า สหรัฐฯ เผชิญกับ “ภารกิจที่ท้าทาย” ในการอพยพชาวอัฟกันที่เปราะบาง รวมถึงผู้ที่ระบุว่าตนเองเป็นชาวอเมริกันอีกราว 200 คน โดยโฆษกทำเนียบขาวระบุเมื่อวันจันทร์ว่า สหรัฐฯ จะให้นักการทูตในพื้นที่ดำเนินการช่วยเหลือผู้ที่ต้องการอพยพต่อไป
แจมชิด (นามสมมติ) ล่ามผู้ส่งใบสมัครขอวีซ่าอพยพแบบพิเศษเมื่อปีค.ศ. 2014 กำลังอยู่ในภาวะที่ยากลำบาก หลังจากที่เขา ภรรยา และลูกเจ็ดคนไม่สามารถเดินทางเข้าสนามบินได้ โดยเขาบอกกับวีโอเอว่า เขาเดินทางมาจากนอกกรุงคาบูล และใช้เวลา 11 วันเพื่อพยายามเข้ามาภายในสนามบินก่อนล้มเลิกความพยายาม โดยแม้ขณะนี้พวกเขาจะยังสบายดี แต่พวกเขาก็กังวลถึงความปลอดภัยเนื่องจากเขาเคยเป็นล่ามให้กองทัพบกสหรัฐฯ เป็นเวลาสี่ปี
เมื่อวันอาทิตย์ สหรัฐฯ และอีก 97 ประเทศประกาศว่า กลุ่มตาลิบันรับรองว่าชาวต่างชาติและชาวอัฟกันที่ถือวีซ่าของประเทศเหล่านี้จะได้รับอนุญาตให้ออกจากประเทศได้หลังผ่านเส้นตายเมื่อวันที่ 31 สิงหาคมมาแล้ว โดยแถลงการณ์ของกลุ่มตาลิบันระบุว่า สนามบินทุกแห่งจะเปิดสำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางออกจากอัฟกานิสถาน
หนึ่งวันหลังจากที่สหรัฐฯ เสร็จสิ้นภารกิจการถอนกำลังออกจากอัฟกานิสถาน แจมชิดได้รับอีเมลจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่รับรองว่า สหรัฐฯ จะเดินหน้าช่วยเหลือเขาต่อไป และบอกขั้นตอนสำหรับผู้สมัครขอวีซ่าดังกล่าวให้โอนเรื่องไปยังสถานทูตหรือสถานกงสุลนอกอัฟกานิสถานเพื่อส่งเรื่องทางออนไลน์ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของความพยายามออกนอกประเทศของเขานั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่ากลุ่มตาลิบันจะยอมช่วยประเทศอดีตศัตรูในสนามรบมากน้อยเพียงใด โดยแจมชิดยอมรับว่า การเดินทางไปยังประเทศที่สามนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย