ฮังการีใช้สิทธิวีโต้ คว่ำข้อเสนอความช่วยเหลือทางการเงินแก่ยูเครนโดยสหภาพยุโรป (อียู) ในวันศุกร์ หนึ่งวันหลังมีการถกเรื่องสมาชิกภาพของยูเครน
นายกรัฐมนตรีวิกเตอร์ ออร์บัน แห่งฮังการี ใช้สิทธิวีโต้ข้อเสนอที่ 26 ประเทศจาก 27 ประเทศสมาชิกที่เหลือของอียูเห็นชอบ ที่จะให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ยูเครนเป็นจำนวน 54,000 ล้านดอลลาร์ (1.8 ล้านล้านบาท) เพื่อสนับสนุนการต่อต้านการรุกรานของยูเครน ตามข้อมูลของประธานคณะมนตรียุโรป ชาร์ลส์ มิเชล
มิเชลระบุว่า สวีเดนต้องนำเรื่องข้อเสนอการเงินดังกล่าวไปพิจารณาในรัฐสภาของตนเสียก่อน แต่นั่นเป็นกระบวนการโดยทั่วไปของสวีเดน เขาระบุด้วยว่า อียูจะพยายาม “ได้เสียงเอกฉันท์” เรื่องงบประมาณให้กับยูเครนในต้นปีหน้า
ในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา อียูได้มีการพูดคุยกันในประเด็นการรับยูเครนเข้ามาเป็นสมาชิก นายกฯ ออร์บัน แห่งฮังการี ที่ไม่เห็นด้วยกับการรับสมาชิกใหม่ ได้ประกาศมาหลายสัปดาห์ว่าจะใช้สิทธิวีโต แต่สุดท้ายก็เลือกเดินออกจากห้องประชุมแทน ทำให้ 26 ชาติสมาชิกที่เหลือมีมติเอกฉันท์ว่าจะให้มีกระบวนการเจรจารับชาติยุโรปตะวันออกเข้าร่วมสมาชิก
ประธานาธิบดีเบลเยียม อะเล็กซานเดอร์ เดอ โกร กล่าวว่า นายกฯ ออร์บันไม่ใช้สิทธิคว่ำญัตติดังกล่าว เนื่องจาก “เขาตระหนักว่าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแก้ตัวได้”
ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน กล่าวว่าการพูดคุยเรื่องสมาชิกภาพ คือ “ชัยชนะของยูเครน” และเป็น “ชัยชนะของยุโรปทั้งหมด”
เซเลนสกี เพิ่งประสบความล้มเหลวในการโน้มน้าวให้ฝ่ายนิติบัญญัติสหรัฐฯ เพิ่มเงินสนับสนุนให้ยูเครน โดยที่ผ่านมา รัฐบาลวอชิงตันมีงบประมาณสนับสนุนยูเครนไปแล้วมากกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ แต่ในระยะหลัง สมาชิกสภาจากพรรครีพับลิกันต้องการให้งบประมาณช่วยเหลือก้อนใหม่ผูกติดกับประเด็นการกวดขั้นพื้นที่ชายแดนสหรัฐฯ - เม็กซิโกด้วย
ในการแถลงข่าวรายงานของ ปธน.เซเลนสกี ระบุว่าประเทศกลุ่มนอร์ดิก ได้รับปากว่าจะให้ความช่วยเหลือแก่ยูเครนเป็นจำนวน 1,400 ล้านดอลลาร์
- ที่มา: VOA