กษัตริย์นโรดม สีหมุนี แห่งกัมพูชา โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งฮุน มาเนต บุตรชายฮุน เซน ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาในวันจันทร์นี้ สืบทอดอำนาจต่อจากพ่อที่จะไปเป็นประธานวุฒิสภาต่อ
ในวันที่ 7 สิงหาคม ตามเวลาท้องถิ่น กษัตริย์นโรดม สีหมุนีได้ออกพระราชกฤษฎีกาโปรดเกล้าฯ ให้ฮุน มาเนต ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายใต้รัฐสภาชุดที่ 7 ของกัมพูชา ตามคำร้องขอของฮุน เซน ผู้สละอำนาจและส่งต่อตำแหน่งให้บุตรชายไม่นานก่อนหน้านี้
เอเอฟพีรายงานว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาอย่างถล่มทลาย ท่ามกลางข้อวิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงการสกัดกั้นพรรคฝ่ายค้านหลักอย่างพรรคแสงเทียนไม่ให้ลงแข่งขัน
แม้จะได้รับการประกาศแต่งตั้งจากกษัตริย์แล้ว แต่ว่าที่ผู้นำอายุ 45 ปีรายนี้จะต้องได้รับการลงคะแนนเสียงรับรองจากสมาชิกในสภาในวันที่ 22 สิงหาคมก่อน จึงจะถือว่าได้ดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ สภาผู้แทนราษฎรกัมพูชาที่มีจำนวนทั้งสิ้น 125 ที่นั่ง เป็นผู้แทนราษฎรจากพรรค CPP ไปแล้วถึง 120 ที่นั่ง
เอเอฟพีรายงานว่าจะมีการนำคนรุ่นใหม่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ แต่ในบางตำแหน่งก็เป็นการสืบทอดจากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก
สม รังษี ผู้นำพรรคสงเคราะห์ชาติกัมพูชา (CNRP) คู่แข่งทางการเมืองของฮุน เซน ที่ลี้ภัยอยู่ที่ฝรั่งเศส กล่าวกับเอเอฟพีว่า ความหวังใดๆ ที่กัมพูชาจะมีเสรีภาพมากขึ้น หรือถอยตัวห่างจากจีนมากขึ้น เป็นเพียงแค่ภาพลวงตาเท่านั้น
“คุณสามารถเปลี่ยนผู้นำได้หลายต่อหลายครั้ง แต่จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเพราะระบบเดิมนั้นยังคงอยู่” สม รังษี กล่าว
เซบาสเตียน สแตรงจิโอ ผู้เขียนหนังสือ “Hun Sen’s Cambodia” กล่าวกับเอเอฟพีด้วยว่า เขายังไม่สามารถประเมินได้ว่าผู้นำคนใหม่ของกัมพูชามีวิสัยทัศน์อย่างไร แต่ภายใต้ระบบการเมืองที่มีความไม่ยืดหยุ่น เขามองว่า การตัดสินใจใด ๆ ของฮุน มาเนต จะต้องกระทำภายใต้การรักษาความภักดีของกลุ่มขั้วอำนาจการเมืองเก่าทั้งในแวดวงการเมือง ธุรกิจ รวมถึงกองทัพ
สแตรงจิโอกล่าวว่า แม้ฮุน มาเนต จะสำเร็จการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์จากอังกฤษและวิทยาลัยการทหารเวสต์ พอยต์ จากสหรัฐฯ แต่ก็มีสัญญาณเพียงน้อยนิดที่บ่งบอกว่าผู้นำกัมพูชาคนใหม่จะนำพาประเทศเข้าใกล้มหาอำนาจในซีกโลกตะวันตกมากขึ้น
“ผมไม่เห็นหลักฐานใด ๆ ว่ามาเนตจะใช้ความรู้ความสามารถ หรือมีความปรารถนาที่จะผลักดันกัมพูชาไปสู่ทิศทางของการปฏิรูปครั้งสำคัญ” นักวิชาการผู้นี้กล่าว
สำหรับสถานีต่อไปของฮุน เซน หลังจากลงจากตำแหน่งผู้นำประเทศที่อยู่มา 38 ปี เขาจะไปดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภาในต้นปีหน้า และจะมีตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการในกรณีที่กษัตริย์เสด็จไปต่างประเทศ