Your browser doesn’t support HTML5
กิจกรรมของมนุษย์กำลังเปลี่ยนแปลงพื้นผิวและอุณหภูมิของโลก แต่การวิจัยใหม่แสดงให้เห็นว่ากิจกรรมเหล่านี้กำลังเปลี่ยนแปลงเสียงของมหาสมุทรและทะเลของโลกด้วย
นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงของเสียงในมหาสมุทร ทะเล และทางน้ำอื่นๆ ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลหลายชนิด ตั้งแต่กุ้งขนาดเล็กไปจนถึงปลาวาฬตัวใหญ่มหึมา
Francis Juanes นักนิเวศวิทยาของมหาวิทยาลัยวิกตอเรีย ประเทศแคนาดาและเป็นผู้เขียนร่วมงานวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร Science กล่าวกับ Associated Press ว่าเสียงเดินทางใต้น้ำได้ไกลมาก และอธิบายว่าสำหรับฝูงปลาแล้วเสียงน่าจะเป็นวิธีที่ดีกว่าแสงในการรับรู้ถึงสภาพแวดล้อมของพวกมัน
กล่าวคือเสียงช่วยให้ปลาและสัตว์ทะเลอื่นๆ อยู่รอด พวกมันใช้เสียงในการสื่อสารกัน นอกจากนี้เสียงยังช่วยให้สัตว์ทะเลบางชนิดหาอาหารตลอดจนหลบหลีกจากนักล่าของพวกมัน และสัตว์ทะเลหลายๆ ชนิดใช้เสียงเพื่อการหาคู่อีกด้วย
อย่างไรก็ตามเสียงรบกวนที่เพิ่มขึ้นจากมนุษย์ทำให้สัตว์เหล่านี้ได้ยินเสียงกันและกันได้ยากขึ้น เสียงดังที่ว่ามาจากการจราจรในการขนส่ง เรือประมงที่ติดเครื่องยนต์ การสำรวจน้ำมันและก๊าซใต้น้ำ การก่อสร้างนอกชายฝั่ง ตลอดกิจกรรมอื่นๆ ของมนุษย์ที่มีเสียงดัง
Carlos Duarte นักนิเวศวิทยาทางทะเลที่ศูนย์วิจัยทะเลแดงในซาอุดิ อะเรเบีย และเป็นผู้เขียนบทความนี้ร่วมกับ Juanes กล่าวว่าสำหรับสัตว์ทะเลหลายๆ ชนิดความพยายามในการสื่อสารของพวกมันถูกบดบังด้วยเสียงที่มนุษย์สร้างขึ้น
ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ NOAA อธิบายว่าการถูกบดบังจะเกิดขึ้นเมื่อมีเสียงหนึ่งหรือหลายๆ เสียงในทะเลที่ปิดกั้นเสียงซึ่งมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ทะเล
Duarte กล่าวว่าทะเลแดงเป็นหนึ่งในเส้นทางการขนส่งที่สำคัญที่สุดของโลก ซึ่งเต็มไปด้วยเรือขนาดใหญ่ที่เดินทางไปยังเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา และว่าปลาและสัตว์อื่นๆ บางชนิดพยายามหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีเสียงดังที่สุด
นอกจากนี้จำนวนสัตว์ทะเลโดยรวมได้ลดลงราวครึ่งหนึ่งตั้งแต่ปีค.ศ. 1970 นักวิจัยได้บันทึกไว้ว่าในบางส่วนของมหาสมุทรในปัจจุบันมีการส่งเสียงของสัตว์น้อยลงกว่าในอดีต เสียงเหล่านั้นหายไปหมดแล้ว
Juanes และ Duarte ได้ตรวจสอบการศึกษาและบทความวิจัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของระดับเสียงและความถี่ในมหาสมุทรของโลก จากนั้นพวกเขาจึงรวบรวมภาพโดยละเอียดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของเสียงในมหาสมุทรและผลกระทบที่มีต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล
นักวิทยาศาสตร์ใช้อุปกรณ์ใต้น้ำเพื่อบันทึกเสียงปลา เสียงเหล่านี้อยู่ในความถี่ต่ำเช่นเดียวกับเสียงจราจรในการขนส่ง ผู้เชี่ยวชาญของ NOAA ระบุว่าการบดบังนั้นสามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจนที่สุดเมื่อเสียงรบกวนมีความถี่และความดังเท่ากันกับเสียงที่มีสำคัญทางชีวภาพ เช่นเสียงร้องเรียกหาคู่
อย่างไรก็ตามนักวิจัยยังพบว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเช่นลม คลื่น และน้ำแข็งที่ละลาย ยังส่งผลกระทบต่อกระบวนการทางกายภาพที่ทำให้เกิดเสียงในมหาสมุทรอีกด้วย
ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญของ NOAA กล่าวว่าผลกระทบของเสียงที่มีต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลยังไม่เป็นที่เข้าใจกันดี แต่การศึกษาบางชิ้นก็ชี้ให้เห็นว่าเสียงดังอาจทำให้สัตว์สูญเสียการได้ยิน นอกจากนี้ความเครียดจากเสียงดังที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ยังอาจส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันซึ่งเป็นระบบป้องกันตามธรรมชาติของสัตว์ตลอดจนการเจริญพันธุ์หรือพฤติกรรมของสัตว์ด้วย
Francis Juanes นักนิเวศวิทยาจากประเทศแคนาดากล่าวส่งท้ายว่าตามทฤษฎีแล้วมลพิษทางเสียงอาจสามารถรับมือได้ง่ายกว่าภัยคุกคามทางทะเลอื่นๆ กล่าวคือเราสามารถลดหรือปิดเสียงได้ทันที ไม่เหมือนกับพลาสติกหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งยากที่จะแก้ไขได้