ไบเดน/อเมริกาจะฟันฝ่าปัญหาวิกฤติภาพลักษณ์เรื่องอัฟกานิสถานได้อย่างไร

Joe Biden delivers remarks on evacuation efforts

ตัวเลขของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ แสดงว่าวอชิงตันได้ใช้จ่ายเงินเพื่อปฎิบัติการทางทหารในอัฟกานิสถานไปแล้วราว 8 แสน 2 หมื่น 5 พันล้านดอลลาร์ตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมาโดยได้ให้ความช่วยเหลือด้านอาวุธและฝึกอบรมทหารอัฟกานิสถานถึง 3 แสนคน

ส่วนนักวิจัยของมหาวิทยาลัยบราวน์ให้ตัวเลขว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ได้ใช้จ่ายเงินสำหรับปฏิบัติการทั้งในอัฟกานิสถานและปากีสถานไปแล้วถึงเกือบ 2 ล้านล้านกับ 3 แสนล้านดอลลาร์และในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาก็มีทหารอเมริกันเสียชีวิตในอัฟกานิสถาน 2,442 นายรวมทั้งมีพลเรือนซึ่งทำงานให้กับกองทัพสหรัฐฯ ต้องเสียชีวิตไปอีก 3,846 คนด้วย

การถอนทหารสหรัฐฯ ออกจากอัฟกานิสฐานนั้นเป็นไปตามนโยบายที่ประธานาธิบดีไบเดนเคยประกาศไว้ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งและเป็นการทำตามแผนการถอนทหารของรัฐบาลประธานาธิบดีทรัมป์ซึ่งกำหนดให้ถอนทหารออกมาภายในวันที่ 1 พฤษภาคม

อย่างไรก็ตามสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาลของประธานาธิบดีไบเดนกำหนดเส้นตายให้ถอนทหารสหรัฐฯ ออกจากอัฟกานิสถานภายในวันที่ 31 สิงหาคมก็คือกลุ่มตาลิบันสามารถยึดพื้นที่ใน 34 จังหวัดทั่วประเทศอัฟกานิสถานได้ในเวลาเพียงแค่ 9 วันและสามารถเข้ายึดกรุงกาบูลได้เมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม โดยเรื่องดังกล่าวนับเป็นวิกฤติด้านนโยบายต่างประเทศที่สำคัญของประธานาธิบดีไบเดนผู้ถูกมองว่ามีความสามารถและช่ำชองในด้านการทูตและกิจการต่างประเทศจากประสบการณ์การทำงานที่ยาวนานในวุฒิสภาสหรัฐฯ

ปัญหาและความปั่นป่วนหลังการประกาศถอนทหารสหรัฐฯ ออกจากอัฟกานิสถานทำให้ประธานาธิบดีไบเดนถูกโจมตีทั้งจากพรรครีพับลิกันและจากสมาชิกของพรรคเดโมแครตเอง ซึ่งนาย Michael O’Hanlon นักวิจัยอาวุโสของสถาบัน Brookings institution ในกรุงวอชิงตันให้ความเห็นว่าการจัดการที่ผิดพลาดครั้งนี้แสดงถึงความล้มเหลวของภาวะผู้นำและการขาดการไตร่ตรองและการวางแผนอย่างรอบคอบตามที่จำเป็น

คำถามที่สำคัญที่มีอยู่ก็คือภาพลักษณ์ของสหรัฐฯ ที่ตกต่ำลงในสายตาการมองของต่างประเทศจากปัญหาวิกฤติด้านนโยบายต่างประเทศครั้งสำคัญที่สุดของรัฐบาลของประธานาธิบดีไบเดนในขณะนี้จะสามารถฟื้นกลับคืนมาได้หรือไม่

A U.S. Chinook helicopter flies near the U.S. Embassy in Kabul, Afghanistan, Sunday, Aug. 15, 2021.

ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้อดีตนักการทูตของสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถานคือนาย Earl Anthony Wayne ที่ปัจจุบันทำงานอยู่กับศูนย์ Wilson Center หน่วยงานด้านการวิจัยนโยบายระดับโลกในกรุงวอชิงตันชี้ว่าสหรัฐฯ อาจจะสามารถกอบกู้ภาพลักษณ์ที่ตกต่ำลงจากปัญหาในอัฟกานิสถานครั้งนี้ได้หากการอพยพคนอเมริกันรวมทั้งชาวอัฟกานิสฐานที่เคยทำงานให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ และพลเมืองของประเทศที่สามออกจากประเทศสามารถทำได้อย่างเป็นระเบียบและปลอดภัย รวมทั้งจะสามารถรับมือกับปัญหาคลื่นผู้อพยพจากอัฟกานิสถานซึ่งขณะนี้มีอยู่ทั่วโลกถึงราว 2 ล้าน 5 แสนคนตามตัวเลขขององค์การสหประชาชาติเมื่อปี 2020 และนับเป็นกลุ่มผู้ลี้ภัยที่มีจำนวนมากที่สุดเป็นอันดับสามของโลกด้วย

นอกจากนั้นหากรัฐบาลสหรัฐฯ สามารถทำให้แน่ใจได้ว่าอัฟกานิสถานจะไม่เป็นประเทศที่ผู้ก่อการร้ายสามารถใช้เป็นแหล่งซุ่มซ่อนและเพาะบ่มการปฎิบัติงานของผู้ก่อการร้าย อย่างเช่นกลุ่มอัลเคดาหรือกลุ่มรัฐอิสลามและสามารถทำให้กลุ่มตาลิบันเคารพสิทธิพื้นฐานด้านมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเคารพสิทธิของสตรี เด็กผู้หญิงและชนกลุ่มน้อย เรื่องดังกล่าวก็จะช่วยกอบกู้ภาพลักษณ์ของสหรัฐฯ ขึ้นมาได้ ขณะนี้เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ ยืนยันว่าได้มีการอายัดทรัพย์สินราว 9 พัน 5 ร้อยล้านดอลลาร์ของอัฟกานิสถานที่อยู่ในธนาคารพาณิชย์ของสหรัฐฯ ไว้แล้วโดยทรัพย์สินดังกล่าวอาจจะเป็นข้อต่อรองสำคัญสำหรับการเจรจาหารือกับกลุ่มตาลิบัน

ในส่วนของแรงกดดันภายในประเทศเองนั้น ผลการสำรวจความคิดเห็นของ Reuters/Ipsos ที่ทำเมื่อวันจันทร์ที่ 16 สิงหาคมแสดงว่าคะแนนนิยมในการทำงานของประธานาธิบดีไบเดนลดลง 7% จาก 53% ก่อนหน้านี้ลงมาอยู่ที่ 46% ซึ่งนับว่าต่ำที่สุดที่โจ ไบเดนได้รับในตำแหน่งประธานาธิบดี

แต่ขณะเดียวกันการสำรวจของ Morning Consult/Politico ซึ่งจัดทำเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้แสดงว่าความสนับสนุนของคนอเมริกันที่ต้องการให้ยุติความเกี่ยวพันกับสงครามในอัฟกานิสถานนั้นก็ลดลงถึง 20% ด้วย กล่าวคือเมื่อเดือนเมษายนปีนี้ 69% ของคนอเมริกันสนับสนุนให้สหรัฐฯ ถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน อย่างไรก็ตามผลการสำรวจครั้งล่าสุดคือเมื่อกลางเดือนสิงหาคมแสดงว่ามีคนอเมริกัน 49% คือลดลงถึง 20 % ที่ต้องการให้สหรัฐฯ เลิกยุ่งเกี่ยวกับสงครามในอัฟกานิสถาน