ใช้ชีวิตอย่างไรให้ปลอดภัยในอุณหภูมิที่ร้อนจัด?

Your browser doesn’t support HTML5

Staying Safe in Hot Temperature


อากาศร้อนได้คร่าชีวิตผู้คนปีละหลายร้อยคน องค์การอนามัยโลกประเมินว่าตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998 จนถึงปี 2017 มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 166,000 รายอันเป็นผลมาจากคลื่นความร้อนที่รุนแรง ซึ่งรวมถึงผู้เสียชีวิตมากกว่า 70,000 รายในช่วงที่คลื่นความร้อนปกคลุมยุโรปในปี ค.ศ. 2003

แต่ถึงกระนั้น การเสียชีวิตและอาการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับความร้อนก็สามารถป้องกันได้ มีขั้นตอนต่าง ๆ มากมายที่ทำได้เพื่อความปลอดภัยในช่วงที่มีอุณหภูมิสูงมาก ๆ

ทั้งนี้มีหลายปัจจัยที่อาจส่งผลต่อความสามารถในการทำให้ร่างกายเย็นลงในช่วงที่อากาศร้อนจัด ตัวอย่างเช่น เมื่อมีความชื้นสูง เหงื่อจะแห้งช้า ซึ่งจำกัดความสามารถของร่างกายในการปลดปล่อยความร้อน ดังนั้น นอกจากจะใส่ใจในเรื่องของอุณหภูมิแล้ว ยังต้องใส่ใจในเรื่องของระดับความชื้นอีกด้วย

นอกจากนี้ ให้สังเกตอุณหภูมิในเวลากลางคืน ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าคลื่นความร้อนมักเป็นอันตรายเมื่ออุณหภูมิในเวลากลางคืนลดลงเพียงเล็กน้อยจากระดับอุณหภูมิสูงสุดในเวลากลางวัน ร่างกายของคนเราจะซ่อมแซมตัวเองตอนกลางคืนในเวลาที่นอนหลับ ดังนั้น อุณหภูมิในตอนกลางคืนที่ร้อนจัดจึงสร้างแรงกดดันอย่างมากต่อร่างกายมนุษย์

อาหารและยาบางชนิดก็อาจส่งผลต่ออุณหภูมิของร่างกายได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น แอลกอฮอล์ คาเฟอีน และน้ำตาล จะทำให้ระบบควบคุมอุณหภูมิของร่างกายอ่อนแอลง

ในเว็บไซต์ของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคหรือ CDC อธิบายว่า คนบางคนมีความเสี่ยงสูงที่จะมีอาการเจ็บป่วยที่เกิดจากความร้อน โดยอายุและน้ำหนักก็เป็นปัจจัยสำคัญของเรื่องนี้ กล่าวคือผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีและอายุต่ำกว่า 2 ปีมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากความร้อนมากกว่าคนกลุ่มอื่น

สุขภาพโดยทั่วไปก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน CDC ระบุว่าการเจ็บป่วยในระยะยาว เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และอาการป่วยทางจิต อาจทำให้มีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น

ในเว็บไซต์ของ CDC ได้ระบุอาการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับความร้อนประเภทต่าง ๆ เช่น อาการผื่นคันจากความร้อน ผิวไหม้จากแดด ตะคริวจากความร้อน อ่อนเพลีย และโรคลมแดดที่ร้ายแรงที่สุด และอธิบายถึงข้อควรระวัง รวมถึงสิ่งที่ควรปฏิบัติด้วย

อาการที่แสดงถึงความอ่อนเพลียจากความร้อนมีมากมาย รวมไปถึงการที่มีเหงื่อออกมาก ผิวหนังเย็นชื้นและซีดกว่าปกติ หัวใจเต้นเร็วและช้าสลับกัน รู้สึกมวนท้องหรือคลื่นไส้ ปวดกล้ามเนื้อหรือเป็นตะคริว รู้สึกเหนื่อยล้าและอ่อนแรง มีอาการวิงหรือปวดเวียนศีรษะ หรืออาจถึงขั้นหมดสติได้

ผู้ที่มีอาการเหล่านี้ ควรเปลี่ยนไปอยู่ในที่ที่มีอากาศเย็น คลายเสื้อผ้าให้หลวม เอาผ้าเปียกเย็น ๆ คลุมร่างกาย หรืออาบน้ำเย็นและดื่มน้ำ หากเริ่มอาเจียน หรืออาการแย่ลงหรือมีอาการนานกว่าหนึ่งชั่วโมง ควรไปพบแพทย์

ทั้งนี้ CDC เรียกอาการของโรคลมแดด หรือ Heat Stroke ว่าเป็นภาวะฉุกเฉินจากความร้อน ควรรีบไปพบแพทย์ทันที อาการของโรคลมแดดได้แก่ การที่อุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 39.4 องศาเซลเซียสขึ้นไป ผิวหนังร้อน แดง แห้ง และชื้น หัวใจเต้นเร็วและแรง มีอาการวิงเวียน หรือปวดศีรษะ คลื่นไส้ สับสน และหมดสติ

ผู้เชี่ยวชาญของ CDC แนะนำขั้นตอนปฏิบัติเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย การบาดเจ็บ และการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับความร้อน เมื่ออากาศร้อนจัด ไว้ดังนี้

  • สวมเสื้อผ้าหลวม ๆ สีอ่อน ๆ และใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปกป้องผิวจากการถูกแดดเผา
  • วางแผนกิจกรรมกลางแจ้งอย่างระมัดระวัง ไม่ควรอยู่กลางแดดนานเกินไป

  • แช่น้ำเย็นเพื่อลดอุณหภูมิร่างกาย

  • คอยสอดส่องดูแลเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง

  • ไม่ควรใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดความร้อนเช่นเตา และเตาอบในการปรุงอาหาร เพราะจะทำให้ทั้งคนและบ้านร้อนยิ่งขึ้น

(ที่มา: VOA Learning English)