แกะรอย รัสเซียเล่นบทเป็น ‘เหยื่อ’ ชาติตะวันตกขณะรุกรานยูเครนอย่างไร

รถถังรัสเซียในเมืองโปปาสนา เขตปกครองลูฮันสก์ ประเทศยูเครน เมื่อ 26 พฤษภาคม 2022 (ที่มา:รอยเตอร์)

ที่ผ่านมา รัฐบาลเครมลินพยายามอ้างเหตุผลที่ตนก่อสงครามกับยูเครนว่า เกิดจากการคุกคามของเหล่าชาติตะวันตก โดยเฉพาะในช่วงปี 2023 ที่รัสเซียถูกโดดเดี่ยวมากขึ้นหลังการสู้รบติดพันและยังประกาศชัยชนะที่มีนัยสำคัญใด ๆ ไม่ได้

สถานการณ์ยังย่ำแย่ลงอีก เมื่อรัสเซียเผชิญกับการสูญเสียกำลังพล ยุทธภัณฑ์ และเครื่องกระสุนเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้องประกาศระดมกำลังพลเพิ่มจนสร้างความไม่พอใจในหมู่พลเรือนเป็นวงกว้าง ไม่เพียงเท่านั้น การเร่งผลิตยุทธปัจจัยก็ถูกจำกัดจากการคว่ำบาตรทางการลงทุนและเทคโนโลยีขั้นสูงจากชาติตะวันตก

ภายใต้ข้อจำกัดพบเจอ ทำให้รัฐบาลเครมลินต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำสงครามด้วยการโน้มน้าวนานาชาติให้เห็นด้วยกับการสงบศึกกับยูเครนชั่วคราวและยกเลิกการคว่ำบาตร “เพื่อซื้อเวลาและฟื้นตัวสำหรับปฏิบัติการโจมตีในอนาคต

ในการยุทธแบบลูกผสมลักษณะนี้ เครื่องมือหนึ่งที่รัสเซียนำมาใช้ก็คือการทำโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อโน้มน้าวให้ผู้รับสารทั้งในและนอกประเทศเชื่อว่ารัสเซียไม่ได้มีบทบาทเป็นผู้รุกรานในสงครามกับยูเครน และรัฐบาลเครมลินเป็นเหยื่อของแผนการโดยชาติตะวันตก ที่มุ่งโจมตีรัสเซียด้วยการใช้ยูเครนเป็นเครื่องมือ

Polygraph ซึ่งเป็นฝ่ายตรวจสอบข่าวของวีโอเอ รวบรวมถ้อยแถลงที่เป็นเท็จและคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง ที่ถูกใช้บ่อยครั้งในปี 2023 เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ข้างต้น

ถ้อยแถลงจากปากของปูติน

วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำสูงสุดของรัสเซีย ใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อพูดถึงรัสเซียในฐานะเหยื่อของชาติตะวันตกอยู่บ่อยครั้งตลอดปีที่ผ่านมา

ยกตัวอย่างเช่น ในเดือนมิถุนายน ปูตินกล่าวความเท็จ ว่า ยูเครน ซึ่งได้รับเอกราชเมื่อเดือนธันวาคม 1991 แท้จริงแล้วถูกบงการโดยชาติตะวันตก ที่ฟูมฟักทัศนคติ “ต่อต้านรัสเซีย” ในประเทศเพื่อนบ้านแห่งนี้ ทั้งที่ข้อเท็จจริงก็คือ ยูเครนได้ต่อต้านการยึดครองจากรัสเซียมายาวนานหลายศตวรรษ

นับตั้งแต่การรุกรานครั้งล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ยูเครนประเมินว่า รัสเซียได้สังหารพลเรือนชาวยูเครนไปแล้วอย่างน้อย 30,000 ราย ขณะที่ องค์การสหประชาชาติสามารถยืนยันยอดผู้เสียชีวิตได้มากกว่า 10,000 ราย และคาดว่าตัวเลขที่แท้จริงจะมีมากกว่านั้น นอกจากนั้น ยังมีผู้สูญหายอีกนับพันราย และหลายล้านคนต้องไร้ถิ่นที่อยู่ จากสงครามที่รัสเซียได้ทำลายเมืองหลายสิบเมือง และยังลักพาตัวเด็กชาวยูเครนไปอีกหลายพันคน

นับตั้งแต่ปี 1991 ยูเครนมีประธานาธิบดีมาแล้วทั้งสิ้น 6 คน โดยครึ่งหนึ่งมีแนวทางฝักใฝ่โลกตะวันตก อีกสองรายสลับไปมาระหว่างตะวันตกกับรัสเซีย และมีหนึ่งรายที่ฝักใฝ่รัสเซีย และในช่วงปี 1991-2018 รัสเซียเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของยูเครน

วาทกรรมจากปากของปูติน ยังคงใช้กลุ่มสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) เป็นตัวร้ายในเรื่องเล่า ที่เขากล่าวโทษในฐานะเหตุผลที่ทำให้เขาตัดสินใจโจมตียูเครน โดยปูตินกล่าวซ้ำไปซ้ำมาว่า NATO พยายามขยายอิทธิพลมาใกล้รัสเซีย และ “เข้าหายูเครน” แม้จะเคยสัญญากันไว้ก่อนหน้าเมื่อปี 1990 ว่าจะไม่ทำเช่นนั้น

อย่างไรก็ตาม Polygraph รายงานว่า ไม่เคยมีคำสัญญาตามที่ปูตินกล่าว และนับตั้งแต่ NATO ก่อตั้งขึ้นในปี 1949 กลุ่มพันธมิตรทางทหารยังคงนโยบายการเปิดกว้างต่อการรับสมาชิกใหม่อยู่ตลอด และสหรัฐฯ ยุโรป และรัสเซีย ก็ไม่เคยลงนามในข้อตกลงใด ๆ ว่าจะจำกัดการรับประเทศจากยุโรปตะวันออกเป็นสมาชิก NATO

นอกจากกล่าวโทษโลกตะวันตกและ NATO แล้ว ปูตินยังกล่าวว่า รัสเซียไม่เคยก่อสงครามต่อยูเครน ตรงกันข้าม ยูเครนต่างหากที่เป็นผู้ก่อสงคราม

รัสเซียเปิดฉากสงครามกับยูเครนเมื่อปี 2014 หลังเข้ายึดครองคาบสมุทรไครเมีย และส่งกองกำลังลับเข้ายึดหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นในแคว้นดอนบาสเพื่อยึดอำนาจในเขตปกครองดอแนตสก์และลูฮันสก์ ยูเครนตอบโต้การโจมตีจากรัสเซียด้วยการเปิด “ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้าย” ทำให้รัสเซียส่งกองทหารประจำการเข้ายึดครองดอนบาส

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 ปูตินประกาศรุกรานยูเครนด้วยกำลังทหารอย่างเต็มรูปแบบ และปฏิบัติการก็ขยายไปไกลกว่าแคว้นดอนบาส เมื่อขบวนรถถังเข้าปิดล้อมกรุงเคียฟ และจรวดและระเบิดจากรัสเซียมีเป้าหมายไปยังเมืองใหญ่หลายแห่ง

รัสเซียเตรียมการสำหรับสงครามครั้งนี้เป็นเวลาหลายเดือน โดยระหว่างนั้นก็พยายามปิดบังและปฏิเสธแผนการดังกล่าวด้วยปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร

การโจมตียูเครนด้วยฝีปากของผู้นำรัสเซีย ยังรวมถึงการระบุว่ายูเครนสังหาร ข่มขืน และระเบิดเพื่อนร่วมชาติตามคำแนะนำของ “ผู้ดูแลจากตะวันตก” โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองบูชา มาริอูโพล และเขื่อนคาคอฟกา

กรณีการระเบิดของเขื่อนคาคอฟกา เหตุเกิดขึ้นในขณะที่เขื่อนอยู่ภายใต้การยึดครองของรัสเซียมาเป็นเวลายาวนานกว่า 15 เดือน นอกจากนั้น ยังมีหลักฐานหลายชิ้นที่ขัดแย้งกับคำอ้างของรัสเซียที่ระบุว่า เขื่อนถูกโจมตีจากยูเครน โดยข้อสรุปจากผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า มีความเป็นไปได้สูงว่าเขื่อนแตกด้วยการระเบิดจากใต้ดิน ส่งผลให้มวลน้ำเข้าท่วมพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อชาวยูเครนหลายพันคน

ถ้อยแถลงของโฆษกรัฐบาลรัสเซีย

ดิมิทรี เพสคอฟ โฆษกรัฐบาลเครมลิน กล่าวว่า “องคาพยพทางทหารของรัสเซียไม่เคยเคลื่อนที่ไปหายุโรปตะวันตก มีเพียงความเคลื่อนไหวในทางตรงกันข้ามที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ”

นับตั้งแต่ปูตินขึ้นสู่อำนาจในปี 2000 รัสเซียได้สร้างฐานทัพเพิ่มหลายสิบแห่ง และฟื้นฟูแสนยานุภาพทางทหารจากยุคสหภาพโซเวียตตามแนวชายแดนยุโรปตะวันตก ในปี 2014 รัสเซียเข้ายึดครองและเริ่มใช้งานฐานทัพของยูเครนหลายแห่งในพื้นที่ไครเมียและดอนบาส

รัสเซียใช้สงครามกับยูเครนเพื่อขยายอำนาจทางทหารไปยังทิศตะวันตก ในปี 2023 รัสเซียติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ในเบลารุส ซึ่งมีพรมแดนติดกับประเทศโปแลนด์ ลิธัวเนีย และลัตเวีย ซึ่งเป็นสมาชิกของ NATO

ถ้อยแถลงจากรัฐมนตรีกลาโหมรัสเซีย

เซอร์เกย์ ชอยกู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรัสเซีย กล่าวในเดือนกุมภาพันธ์ว่า กลุ่ม Ukraine Defense Contact Group หรือที่รู้จักกันในชื่อ Ramstein Group ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธมิตรที่ให้การช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครน ได้กล่าวอย่างเปิดเผยให้ยูเครนเข้ายึดครองดินแดนของรัสเซีย

กลุ่มพันธมิตรดังกล่าว ที่มีสมาชิก 54 ประเทศ ไม่ได้เรียกร้องให้ยูเครนยึดครองดินแดนของรัสเซีย ในทางกลับกัน ทางกลุ่มยังพูดถึงการจำกัดพื้นที่เป้าหมายที่ยูเครนสามารถโจมตีด้วยอาวุธหนักที่พวกตนให้การสนับสนุนได้ รวมถึงการห้ามโจมตีพื้นที่ที่นานาชชาติให้การยอมรับว่าเป็นเขตแดนของรัสเซีย

ถ้อยแถลงจากรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย

เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซีย กล่าวโจมตีกลุ่ม Ramstein Group ว่าเทียบเท่า “นโปเลียน…และฮิตเลอร์” และบอกว่า กลุ่มดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อกวาดล้างชาวรัสเซีย

อย่างไรก็ตาม Ramstein Group ไม่เคยมีถ้อยแถลงเกี่ยวกับการทำลายประเทศรัสเซีย พลเมืองรัสเซีย หรือเชื้อชาติรัสเซียในระดับใด ๆ เลย

สื่อของปูตินพูดอย่างไร

ดิมิทรี โปปอฟ คอลิมนิสต์ของสื่อ Moskovsky Komsomolets ซึ่งเป็นหนึ่งในหนังสือพิมพ์การเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของรัสเซีย รายงานว่า “ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ เจค ซัลลิแวน สั่งให้ยูเครนโจมตีไครเมีย”

ซัลลิแวนกล่าวกับ CNN ว่า การที่สหรัฐฯ สนับสนุนอาวุธให้ยูเครน ไม่ได้หมายความถึงการทำให้ยูเครนโจมตีรัสเซียด้วยระบบอาวุธของสหรัฐฯ และโลกตะวันตก ทั้งนี้ เขาระบุว่า “ไครเมียเป็นของยูเครน” และสหรัฐฯ “ไม่ได้วางข้อจำกัดให้ยูเครน ในการโจมตีพื้นที่ของตนเอง ภายในเขตแดนซึ่งนานาชาติให้การยอมรับ”

หนังสือเรียนในรัสเซียเขียนถึงเรื่องนี้อย่างไร

เรื่องราวของประธานาธิบดีรัสเซีย มักปรากฏอยู่ในหนังสือเรียน เพื่อใช้สอนนักเรียนในวิชาประวัติศาสตร์ในโรงเรียนและวิทยาลัย รวมถึงในพื้นที่ที่รัสเซียยึดมาจากยูเครนด้วย

ใจความในหนังสือเรียนวิชาประวัติศาสตร์รัสเซียร่วมสมัยและประวัติศาสตร์โลกสองเล่มล่าสุด มีลักษณะเหมือนกับโฆษณาชวนเชื่อและการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารจากรัฐบาลเครมลิน

ตัวอย่างหนึ่ง มาจากใจความในหนังสือเรียนที่ระบุว่า สหรัฐฯ เป็นผู้ได้ประโยชน์รายหลักจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน เนื่องจากสหรัฐฯ “สามารถยัดเยียดก๊าซและทรัพยากรอื่น ๆ ในราคาแพงให้ยุโรป”

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากหน่วยงานสถิติของสหภาพยุโรป หรือ Eurostat ระบุว่าสัดส่วนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติในรูปแบบของเหลวจากสหรัฐฯ เข้าสู่สหภาพยุโรป ลดลงเรื่อย ๆ นับตั้งแต่รัสเซียเข้ารุกรานยูเครนในปี 2022

ในรายงานสถิติระบุว่า ในไตรมาสแรกของปี 2022 สหภาพยุโรปนำเข้าก๊าซธรรมชาติในรูปแบบของเหลวจากรัสเซีย มากสุดเป็นอันดับสองรองจากสหรัฐฯ (18.1% และ 48.6% ตามลำดับ) และในไตรมาสแรกของปี 2023 สัดส่วนการนำเข้าจากรัสเซียลดลงเหลือ 13.2% และจากสหรัฐฯ ลดลงเหลือ 40.2%

อีกหนึ่งบทเรียนในตำรา คือเรื่องเล่าว่า สหรัฐฯ เป็นผู้บังคับให้ยูเครนต่อสู้กับการรุกรานของรัสเซีย และสหรัฐฯ “ตั้งใจที่จะสู้จนถึงชาวยูเครนคนสุดท้าย”

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจความเห็น บ่งชี้ว่าชาวยูเครนจำนวนมาก เชื่อว่า “ชัยชนะ” ของยูเครน หมายถึงการเข้าปลดปล่อยดินแดนที่ถูกยึดครองทั้งหมด รวมถึงไครเมียและดอนบาส และมีความเห็นจากผู้ตอบแบบสำรวจหลายราย ที่เชื่อมั่นว่ายูเครนจะชนะ เนื่องจากประชาชนตระหนักรู้ว่า หากพ่ายแพ้ ภัยคุกคามที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้น ก็ใหญ่หลวงถึงขั้นเกิดการทำลายล้างทั้งประเทศ