Your browser doesn’t support HTML5
หลังการโจมตีของผู้ก่อการร้ายในสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 ประธานาธิบดีจอร์จ ดับบลิว บุชในขณะนั้นได้ลงนามในกฎหมายเพื่อตั้งหน่วยงานของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ คือ TSA เพื่อรักษาความปลอดภัยสำหรับการเดินทางทางอากาศ
และถึงแม้มาตรการด้านความปลอดภัยต่างๆ อย่างเข้มงวดที่นำมาใช้จะช่วยยับยั้งไม่ให้เกิดการโจมตีจากผู้ก่อการร้ายซ้ำในสหรัฐฯ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาแต่เรื่องดังกล่าวก็ต้องแลกกับความเป็นส่วนตัวของผู้เดินทาง และได้เปลี่ยนทั้งโฉมหน้าและการทำงานของอุตสาหกรรมการบินโดยสิ้นเชิง รวมทั้งยังทำให้การเดินทางทางอากาศของผู้คนมีปัญหากดดันมากขึ้นด้วย
ทั้งนี้เพราะสองเดือนหลังการโจมตีดังกล่าวประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุชได้ลงนามในกฎหมายเพื่อตั้งหน่วยงานรักษาความปลอดภัยของรัฐบาลกลางในสังกัดกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิชื่อ Transportation Security Administration หรือที่เรียกย่อๆ ว่า TSA เพื่อทำหน้าที่ตรวจคัดกรองผู้เดินทางแทนเจ้าหน้าที่ของภาคเอกชนซึ่งอุตสาหกรรมการบินเคยใช้อยู่ก่อนหน้านี้
นอกจากนั้นกฎหมายดังกล่าวยังกำหนดให้ต้องมีการตรวจเอ็กซเรย์กระเป๋าสัมภาระทุกใบ มีการเสริมความมั่นคงที่ประตูห้องนักบิน และมีการส่งสารวัตรอากาศหรือ Air Marshal ขึ้นไปกับเครื่องบินบางลำเพื่อช่วยรักษาความปลอดภัยด้วย
ข้อกำหนดด้านการรักษาความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้นนี้ทำให้ผู้เดินทางทางอากาศต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นและถูกกดดันมากขึ้น นอกจากนั้นยังมีกฎข้อบังคับอื่นๆ เช่นการต้องถอดรองเท้าและเข็มขัดก่อนเดินผ่านเครื่องตรวจ รวมถึงการห้ามนำของเหลวหรือเครื่องดื่มบางอย่างผ่านจุดตรวจแต่สามารถซื้อเครื่องดื่มเหล่านั้นได้หลังผ่านจุดตรวจไปแล้วซึ่งก็ทำให้หลายคนตั้งคำถามแต่ก็ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน เป็นต้น
ดูเหมือนว่าหน่วยงาน TSA จะพยายามช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้เดินทางที่สมัครใจจ่ายค่าธรรมเนียมและลงทะเบียนในโปรแกรมบางอย่าง เช่น Global Entry หรือ PreCheck ซึ่งจะช่วยให้เสียเวลาและมีขั้นตอนต่างๆ ที่จุดตรวจน้อยลง อย่างไรก็ตามมาตรการด้านความปลอดภัยทั้งหมดที่นำมาใช้นี้แม้จะเรียกว่าได้ผลเพราะไม่เคยมีการโจมตีในลักษณะเดียวกันอีกในสหรัฐฯ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาก็ตาม
แต่เรื่องดังกล่าวก็ต้องแลกกับความเป็นส่วนตัวของผู้เดินทางเช่นกัน ตัวอย่างเช่น TSA เคยมีแผนจะให้ผู้ลงทะเบียนในโครงการ Global Entry และ PreCheck ต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของตน รายงานข่าวเกี่ยวกับตัวเอง รวมทั้งลักษณะการใช้เงินของผู้สมัครด้วย
นอกจากนั้นทางหน่วยงานยังมีแผนจะให้บริษัทเอกชนหลายแห่งเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกเรื่องนี้แต่ก็ต้องมีการเก็บข้อมูลส่วนตัวที่อาจนำไปใช้ด้านการตลาด ซึ่งผู้ทำงานด้านความเป็นส่วนตัวของ American Civil Liberties Union ได้ตั้งข้อสังเกตว่าข้อมูลลักษณะนี้ดูจะไม่มีความเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของการเดินทางทางอากาศแต่อย่างใดเลย
นอกจากนั้น TSA กำลังทดลองใช้ระบบตู้อัตโนมัติหรือ Kiosk ที่มีระบบจดจำใบหน้าเพื่อช่วยตรวจเอกสารแสดงตัวตนและบัตรขึ้นเครื่องบินแทนการใช้เจ้าหน้าที่จริงในขณะนี้ แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านความเป็นส่วนตัวบางคน เช่น คุณอินเดียแมคคินนี่ของหน่วยงาน Electronic Frontier Foundation ก็เตือนว่าการเชื่อมต่อระบบตู้อัตโนมัติดังกล่าวเข้ากับอินเตอร์เน็ตจะเปิดโอกาสให้แฮ็คเกอร์เข้ามาขโมยข้อมูลส่วนบุคคลไปได้โดยง่าย
เท่าที่ผ่านมามาตรการที่เข้มงวดบางอย่างของ TSA ได้ถูกโจมตีจนต้องยกเลิกไป อย่างเช่นการใช้เครื่องสแกนเนอร์แบบทั้งตัวซึ่งทำให้ภาพร่างกายของผู้เดินทางปรากฏอยู่บนจอและหลายคนเห็นว่าเป็นการล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวมากเกินไปทำให้หน่วยงาน TSA กำลังพยามปรับและหามาตรการใหม่ๆ มาใช้เพื่อช่วยตรวจสกัดวัตถุหรือผู้เดินทางที่ประสงค์ร้ายซึ่งอาจจะใช้เครื่องบินเป็นเครื่องมือเพื่อโจมตี
อย่างไรก็ตามสำนักข่าวเอพีระบุว่ารายงานการวิเคราะห์ด้านความปลอดภัยชิ้นหนึ่งได้เตือนว่าภัยคุกคามอีกด้านหนึ่งนั้นอาจจะมาจากบุคคลภายในเอง ซึ่งหมายถึงบุคลากรของสายการบินที่สามารถเข้าถึงเครื่องบินได้ง่ายโดยไม่ต้องผ่านการตรวจอย่างเข้มงวดทุกครั้งเพราะถือได้ว่าได้ผ่านการสอบประวัติมาก่อนแล้ว และทางหน่วยงาน TSA ก็กล่าวว่ากำลังปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบด้านนี้อยู่
เมื่อปี 2015 รายงานการศึกษาชิ้นหนึ่งระบุว่าเจ้าหน้าที่ของ TSA ล้มเหลวในการตรวจจับอาวุธหรือวัตถุระเบิดต้องห้ามที่ถูกนำพาโดยเจ้าหน้าที่ผู้ทดสอบระบบถึง 95% และถึงแม้จะยังไม่มีเหตุการณ์ที่ร้ายแรงเกิดขึ้นก็ตาม
แต่คุณนาธาน ดัดนีย์ ผู้บริหารงานขายของบริษัทเครื่องกีฬาคนหนึ่งซึ่งเดินทางโดยเครื่องบินเป็นประจำยกตัวอย่างว่า บางครั้งตนเคยลืมกระสุนปืนไว้ในกระเป๋าที่นำติดตัวขึ้นเครื่องบินแต่เจ้าหน้าที่ก็ตรวจไม่พบ และให้ความเห็นว่าคุณคงไม่สามารถตรวจจับทุกสิ่งได้ 100% ถึงแม้จะมีความพยามทำให้ได้ดีที่สุดก็ตาม
ที่มา: AP