นิโคล คิดแมนรอดถูกกักตัวโควิด-19 สะท้อนปัญหาอภิสิทธิ์สำหรับคนรวยและคนผิวขาวในฮ่องกงและเอเชีย

FILE - Australian actor Nicole Kidman works on a scene during filming for the Amazon Prime series "Expats" in Hong Kong, China, August 23, 2021.

Your browser doesn’t support HTML5

HK Nicole Kidman

เมื่อเดือนสิงหาคม มีกระแสความไม่พอใจในฮ่องกงหลังจากที่นิโคล คิดแมน ดาราสาวสัญชาติออสเตรเลียเดินทางเข้าไปถ่ายทำภาพยนต์สำหรับรายการของ Amazon TV ชื่อ “Expats” และได้รับการยกเว้นไม่ต้องถูกกักตัว 21 วันเหมือนบุคคลทั่วไป

และนักสังคมวิทยาชี้ว่าเรื่องดังกล่าวสะท้อนถึงทัศนคติและการปฏิบัติเป็นพิเศษซึ่งชาวต่างชาติผิวขาวรวมทั้งผู้ที่มีฐานะร่ำรวยมักได้รับทั้งในฮ่องกงและในส่วนอื่นของเอเชีย

เมื่อเดือนสิงหาคม นิโคล คิดแมนเดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัวไปยังฮ่องกงเพื่อร่วมถ่ายทำภาพยนตร์ของ Amazon TV และได้รับการยกเว้นไม่ต้องถูกกักตัว 21 วันโดยเจ้าหน้าที่รัฐบาลฮ่องกงให้เหตุผลว่าเพราะเธอเดินทางเข้าไปเพื่อวัตถุประสงค์ของการทำงานด้านวิชาชีพที่ได้กำหนดไว้ซึ่งช่วยนำไปสู่การดำเนินงานที่จำเป็นและการพัฒนาเศรษฐกิจของฮ่องกง

อย่างไรก็ตามข้อยกเว้นดังกล่าวได้สร้างกระแสความไม่พอใจขึ้นอย่างมากในหมู่ชาวฮ่องกง และคุณวีต้า ชานสตรีชาวฮ่องกงผู้หนึ่งกล่าวกับวีโอเอว่ารายการภาพยนตร์ที่ว่านี้เป็นของ Amazon TV ไม่ใช่สำหรับโทรทัศน์ในท้องถิ่นด้วยซ้ำ ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลสมควรสำหรับการยกเว้นการกักตัวดังกล่าว

อันที่จริงแล้วความไม่พอใจเกี่ยวกับอภิสิทธิ์ที่คนผิวขาวหรือคนร่ำรวยได้รับในฮ่องกงนั้นเริ่มมาก่อนกรณี ของนิโคล คิดแมนด้วยซ้ำ เพราะตั้งแต่ปีที่แล้วชาวฮ่องกงได้เห็นว่าพลเมืองของชาติตะวันตกไม่ค่อยเต็มใจสวมหน้ากากหรือเว้นระยะห่างเหมือนที่ชาวฮ่องกงต้องปฏิบัติโดยทั่วไป

ยิ่งกว่านั้นในเดือนมิถุนายนปีนี้ รัฐบาลฮ่องกงได้ออกคำสั่งยกเว้นเรื่องการกักตัวสำหรับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทการเงินซึ่งได้รับวัคซีนครบโดสแล้วและเดินทางเข้าไปในฮ่องกงด้วยเหตุผลเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว อย่างไรก็ตามคำสั่งที่ว่านี้ได้ถูกยกเลิกไปไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้นและรัฐบาลฮ่องกงก็แถลงว่ามีผู้ยื่นเรื่องขอยกเว้นการกักตัวเพียงสองรายเท่านั้นจากจำนวนกว่า 150 รายที่ได้รับอนุมัติ

ลักษณะการปฏิบัติที่แตกต่างนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะสำหรับผู้มีชื่อเสียงในวงการบันเทิงหรือชาวต่างชาติที่มีฐานะร่ำรวยเท่านั้น เพราะอาจารย์ชาวยุโรปผู้หนึ่งซึ่งสอนหนังสืออยู่ในฮ่องกงได้ตั้งข้อสังเกตว่าตำรวจฮ่องกงก็มีการปฏิบัติอย่างไม่ทัดเทียมกันระหว่างชาวต่างชาติที่หยาบคายหรือมีพฤติกรรมฝ่าฝืนกฎข้อห้ามเกี่ยวกับโควิดกับชาวฮ่องกงทั่วๆ ไป

โดยอาจารย์ชาวยุโรปผู้ไม่ต้องการเปิดเผยนามผู้นี้ยอมรับว่าตนและพลเมืองของชาติตะวันตกอื่นๆ มักได้รับสิทธิพิเศษรวมทั้งค่าตอบแทนในสัดส่วนที่สูงกว่าชาวต่างชาติที่มาจากบางประเทศในเอเชีย เช่น ฟิลิปปินส์หรืออินโดนีเซียมากทีเดียว ยกตัวอย่างเช่นโรงเรียนของเขาจ้างคนผิวขาวสัญชาติอังกฤษให้เป็นครูทั้งๆ ที่ไม่มีคุณสมบัติอย่างเหมาะสม แต่ตัดสินใจไม่จ้างคนในท้องถิ่นผู้มีคุณสมบัติมากกว่า เป็นต้น

ขณะนี้ฮ่องกงมีชาวต่างชาติเข้าไปทำงานในหน้าที่ต่างๆ จำนวนมากโดยราว 30% เป็นชาวฟิลิปปินส์ 20% เป็นชาวอินโดนีเซียและราว 10% เป็นคนผิวขาว อย่างไรก็ตามเกือบครึ่งของคนต่างชาติจากประเทศในเอเชียมักทำงานรับใช้ในบ้านซึ่งได้ค่าตอบแทนเฉลี่ยเพียงปีละ 7,700 ดอลลาร์เมื่อเทียบกับรายได้เฉลี่ยปีละ 88,000 ดอลลาร์สำหรับชาวต่างชาติอื่นๆ โดยทั่วไป

อาจารย์ตง หยูยิง ผู้สอนวิชาสังคมวิทยาที่มหาวิทยาลัย Chinese University of Hongkong ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับช่องว่างด้านรายได้ ความมั่งคั่งร่ำรวย และการปฎิบัตินี้ว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วไปในเอเชีย และเรื่องดังกล่าวก็ดูจะเป็นเหตุผลดึงดูดคนผิวขาวผู้มักได้รับโอกาสในเรื่องต่างๆ มากกว่าด้วย

โดยอาจารย์ตง หยูยิงชี้ว่าประเทศในเอเชียมักยอมรับความเหนือกว่าด้านวัฒนธรรมของคนผิวขาวและเรื่องนี้ก็เริ่มมาจากในสมัยล่าอาณานิคมซึ่งพลเมืองของชาติตะวันตกผู้มีความสามารถระดับปานกลางหรือทำงานไม่ได้ผลดีมักถูกส่งมารับตำแหน่งระดับสูงในเอเชียและสามารถสร้างฐานะที่มั่งคั่งร่ำรวยรวมทั้งได้รับอภิสิทธิ์ในด้านต่างๆ ซึ่งถึงแม้ยุคล่าอาณานิคมจะผ่านพ้นไปแล้วก็ตามทัศนคติรวมทั้งการปฏิบัติเหล่านี้ก็ยังเหมือนเดิมอยู่

อาจารย์ตง หยูยิงได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ด้วยว่าขณะนี้ถึงแม้คนผิวขาวชาวต่างชาติในฮ่องกงจะเริ่มตระหนักเรื่องอภิสิทธิ์ของตนและเริ่มมีการปฏิบัติที่ดีขึ้นกับผู้คนของชาติอื่นๆ ก็ตาม แต่เรื่องนี้ก็คงจะเป็นกระบวนการที่ยาวนานสำหรับการพยายามลดช่องว่างด้านความมั่งคั่ง ด้านชนชั้น และด้านผิวพรรณในเอเชีย

ที่มา: VOA