ทางการฮ่องกงสั่งห้ามจัดพิธีรำลึกถึงเหตุการณ์จัตุรัสเทียนอันเหมินเป็นปีที่สองติดต่อกัน จากที่ปกติจะมีผู้คนหลายพันคนเข้าร่วมพิธีรำลึกถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุมในจีนเมื่อปีค.ศ. 1989
เหตุการณ์จัตุรัสเทียนอันเหมินเกิดขึ้นเมื่อ 32 ปีที่แล้ว โดยผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยชุมนุมบนท้องถนนในกรุงปักกิ่งเพื่อต่อต้านรัฐบาลจีนและเรียกร้องการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเมือง หลังจากนั้นหลายสัปดาห์ กองทัพปลดปล่อยประชาชนของจีนก็ใข้รถถังเข้ายึดพื้นที่ประท้วง และยิงโจมตีผู้ประท้วงจนมีผู้เสียชีวิตไม่ทราบจำนวน
ชาวฮ่องกงหลายพันคนเข้าร่วมพิธีรำลึกถึงโศกนาฎกรรมดังกล่าวติดต่อกันมาหลายสิบปี อย่างไรก็ตาม ทางการฮ่องกงสั่งห้ามจัดพิธีดังกล่าวเป็นครั้งแรกเมื่อปีที่แล้วโดยอ้างเหตุผลการระบาดของโคโรนาไวรัส ในขณะที่การจัดพิธีดังกล่าวถือเป็นการละเมิดกฎหมายในจีนแผ่นดินใหญ่
มีรายงานว่า เมื่อวันศุกร์ เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เกิน 7,000 นาย ออกประจำการเพื่อรับมือกับการชุมนุมรำลึกที่อาจเกิดขึ้น โดยมีเจ้าหน้าที่ 3,000 นายประจำการที่สวนสาธารณะวิคตอเรีย พาร์ค ในย่านคอสเวย์ เบย์ซึ่งเป็นสถานที่ที่เคยจัดพิธีรำลึกนี้มาโดยตลอด โดยในปีนี้ ทางการฮ่องกงยังคงอ้างเหตุผลการระบาดของไวรัส และการจำกัดการชุมนุมไม่เกินสี่คนในที่สาธารณะ เพื่ออธิบายการสั่งห้ามจัดพิธีรำลึก
ตำรวจยังเตือนด้วยว่า ผู้ละเมิดคำสั่งดังกล่าว ตะโกนข้อความ หรือสวมเสื้อผ้าสีดำ ซึ่งเป็นสีของผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลเมื่อปีค.ศ. 2019 จะถูกจับกุม
โจฮัน นายแลนเดอร์ ผู้สื่อข่าวชาวสวีเดน กล่าวกับวีโอเอว่า แม้สวนสาธารณะดังกล่าวจะเกือบว่างโล่ง แต่บรรยากาศกลับมีความกดดัน เขายังถูกตำรวจเตือนด้วยว่าเขาอาจถูกจับกุม หลังเขาเดินทางไปยังบริเวณดังกล่าวได้ราว 3-4 นาทีเพื่อไปถ่ายภาพ
เมื่อวันศุกร์ ตำรวจฮ่องกงจับกุม โจว ฮั่ง ตัง นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ด้วยข้อกล่าวหาว่าเธอส่งเสริมการชุมนุมกันโดยไม่ได้รับอนุญาต
ทั้งนี้ โจว ฮั่ง ตัง เป็นทนายให้กับนักเคลื่อนไหวอย่างน้อยหนึ่งคน จากทั้งหมด 47 คนที่ถูกจับกุมเนื่องจากละเมิดกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ เธอยังเป็นรองประธานของกลุ่มพันธมิตรฮ่องกง ซึ่งเป็นกลุ่มที่จัดพิธีรำลึกเทียนอันเหมินเป็นประจำด้วย
สื่อท้องถิ่นคาดว่า การจับกุม โจว ฮั่ง ตัง มีสาเหตุจากโพสต์ทางสื่อสังคมออนไลน์ที่กล่าวถึงการที่กลุ่มพันธมิตรฮ่องกงพยายามร้องขอให้มีการจัดพิธีรำลึกดังกล่าวแต่ไม่สำเร็จ
เหลย เฉิก หยั่น ประธานกลุ่มพันธมิตรฮ่องกง ถูกจำคุกเนื่องจากจัดการชุมนุมอย่างผิดกฎหมายเมื่อปีค.ศ. 2019 โดยก่อนที่จะถูกจำคุกนั้น เหลย เฉิก หยั่น เห็นว่า ทางการฮ่องกงอาจไม่อนุมัติให้มีการจัดการชุมนุมขนาดใหญ่ในวันที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง รวมถึงในวันครบรอบเหตุการณ์เทียนอันเหมินด้วย
นายเหลยยังเป็นหนึ่งในผู้ประท้วงที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์เทียนอันเหมิน โดยขณะนั้นเขาถูกทางการจีนสอบสวนถึงบทบาทของเขา แต่ก็ถูกปล่อยตัวก่อนจะหลบหนีมายังฮ่องกง
แม้ว่าทางการฮ่องกงจะสั่งห้ามการชุมนุมในวันสำคัญนี้ แต่ชาวฮ่องกงก็หาวิธีอื่นๆ เพื่อรำลึกถึงโศกนาฏกรรมดังกล่าว เช่น โพสต์จากสื่อสังคมออนไลน์ที่เผยให้เห็นผู้คนเดินทางไปยังสวนสาธารณะวิคตอเรีย พาร์ค หนึ่งวันก่อนวันครบรอบ เพื่อแสดงความเคารพต่อผู้วายชนม์ในเหตุการณ์
ในขณะที่มหาวิทยาลัยฮ่องกง มีการจัดพิธีที่เสา Pillar of Shame of Hong Kong ซึ่งเป็นปฏิมากรรมรูปร่างกายคนบิดเบี้ยว 50 คน ที่สื่อถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์เทียนอันเหมิน ในขณะที่ชาวฮ่องกงอีกส่วนบอกกับทางวีโอเอว่า จะเข้าร่วมพิธีรำลึกในโบสถ์ทั่วฮ่องกง
เอมิลี เลา อดีตประธานพรรคเดโมแครติก ซึ่งเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญทางการเมืองที่วางแผนเข้าร่วมพิธีในโบสถ์ดังกล่าว กล่าวกับวีโอเอว่า คำสั่งห้ามจัดทำกิจกรรมทั้งสองปีแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลจีนและรัฐบาลฮ่องกงไม่ต้องการให้ผู้คนจดจำพิธีดังกล่าว ในขณะที่ชาวฮ่องกงต้องการให้ทางการสืบสวนถึงเหตุการณ์เมื่อ 32 ปีที่แล้วนี้ และลงโทษผู้รับผิดชอบต่อการสังหารหมู่ในครั้งนั้น
หว่อง ยัต ชิน ผู้จัดการของกลุ่ม Student Politicism ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองเพื่อส่งเสริมคุณค่าประชาธิปไตย วางแผนฉายสารคดีพร้อมเปิดวงสนทนาถึงเหตุการณ์เทียนอันเหมินและเหตุการณ์ล่าสุดต่างๆ ในฮ่องกง ก่อนที่เขาจะถูกตำรวจใส่กุญแจมือและควบคุมตัวระหว่างการนำเสนอดังกล่าว ตามรายงานของสื่อท้องถิ่นฮ่องกง โดยตำรวจเตือนให้ผู้เข้าร่วมงานแยกย้ายออกไป ไม่เช่นนั้นพวกเขาอาจถูกจับกุม
ทั้งนี้ แม้ทางการฮ่องกงจะสั่งห้ามการจัดพิธีรำลึกเทียนอันเหมินเมื่อปีที่แล้ว แต่ผู้คนหลายพันคนก็ยังคงเข้าร่วมพิธีดังกล่าว โดยจุดเทียนและเปิดไฟฉายจากโทรศัพท์มือถือ ก่อนพิธีจะยุติลงโดยไม่มีเหตุการณ์ใดๆ
เมื่อเดือนสิงหาคม นักเคลื่อนไหว 24 คนถูกจับกุมเนื่องจากเข้าร่วมหรือจัดการชุมนุมอย่างผิดกฎหมาย โดยโจชัว หว่อง เป็นหนึ่งในนักเคลื่อนไหวสี่คนที่ถูกจำคุกเมื่อเดือนพฤษภาคม โดยเขาได้รับโทษจำคุกจากคดีนี้คดีเดียว 10 เดือน ในขณะที่นักเคลื่อนไหวอีก 20 คน กำลังอยู่ในระหว่างรอการพิพากษา
ทั้งนี้ ภายใต้ข้อตกลง “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ที่อังกฤษและจีนลงนามร่วมกันเมื่อปีค.ศ. 1997 หลังอังกฤษส่งมอบฮ่องกงคืนให้แก่จีนนั้น จีนให้คำมั่นว่าฮ่องกงจะยังคงมี “อำนาจปกครองตนเองอย่างสูง” จนถึงปีค.ศ. 2047
หลังการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อปีค.ศ. 2019 จีนบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในฮ่องกง โดยกฎหมายดังกล่าวห้ามการแบ่งแยกดินแดน การเป็นบ่อนทำลาย การก่อการร้าย และการสมรู้ร่วมคิดกับกองกำลังต่างชาติ ซึ่งรายละเอียดของกฎหมายดังกล่าวสามารถถูกตีความไปได้หลายทาง