จิมมี ไล เจ้าของสื่อแอปเปิล เดลี และนักเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตย ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาในคดีที่ทางการฮ่องกงฟ้องว่ามีการสมคบคิดกับต่างชาติและตีพิมพ์เอกสารที่สร้างความแตกแยก ตามกฎหมายความมั่นคงที่จีนบังคับใช้เพื่อคุมการชุมนุมในฮ่องกง
ไล ที่ปัจจุบันอายุ 76 ปี และถือสัญชาติอังกฤษ ถูกกล่าวหาตามความผิดข้างต้นรวมทั้งสิ้น 3 กระทง โดยในการปรากฏตัวที่ห้องพิจารณาคดีของศาล ท่ามกลางครอบครัว นักการทูต และผู้สนับสนุนที่ร่วมสังเกตการณ์การพิจารณาคดี เจ้าพ่อสื่อรายนี้ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด พร้อมทั้งกล่าวยืนยันว่า ตนเป็นผู้บริสุทธิ์ในทุกข้อกล่าวหาด้วย
ไล เป็นผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์แอปเปิล เดลี ที่มีจุดยืนสนับสนุนประชาธิปไตย ซึ่งปัจจุบันได้ปิดตัวลงแล้ว นอกจากนั้น เขายังเป็นหนึ่งในผู้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์แนวทางการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและประธานาธิบดีสี จิ้นผิง
เขาถูกจับกุมครั้งแรกในปี 2020 หลังจากรัฐบาลปักกิ่งประกาศบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงในฮ่องกงเพื่อตอบโต้การชุมนุมขนาดใหญ่ในปี 2019 และได้ถูกตัดสินจำคุกในข้อหาอื่นมาแล้วในช่วงปีดังกล่าว และเขาอาจรับโทษสูงสุดถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิต หากศาลตัดสินว่ามีความผิดในคดีที่กำลังมีการไต่สวนอยู่
ในการกล่าวแถลงเปิดคดีเมื่อวันอังคาร แอนโธนี เชา ผู้เป็นอัยการ ระบุว่า ไล เป็น “บุคคลหัวรุนแรง” โดยกล่าวหาว่า เขาสมคบคิดกับต่างชาติ โดยมีหลักฐานที่ใช้ประกอบคือ แถลงการณ์ที่เขาสนับสนุนให้สหรัฐฯ คว่ำบาตรจีนเพื่อตอบโต้การบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงในฮ่องกง
เอกสารอื่น ๆ ที่อัยการยกมาใช้ในการฟ้อง คือ ภาพที่ ไล เข้าพบกับอดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไมค์ เพนซ์ และอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ ไมค์ พอมเพโอ รวมถึงบทความในแอปเปิล เดลี จำนวน 161 ชิ้นที่อัยการบอกว่าเป็น “ตัวอย่างของสิ่งพิมพ์ที่ยุยงปลุกปั่น”
ขณะเดียวกัน ลุค เดอ พัลฟอร์ด ผู้อำนวยการบริหารกลุ่ม Interparliamentary Alliance on China กล่าวว่า เขาและคนอีกจำนวนหนึ่งถูกระบุว่า เป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในคดีของไลด้วย
เดอ พัลฟอร์ด ออกคลิปแถลงการณ์ที่เผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์ม เอ็กซ์ (X) ที่มีใจความว่า หากตนและบุคคลอื่น ๆ “เคยทำงานร่วมกับ จิมมี เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตยในฮ่องกง นั่นก็เป็นเรื่องของความภาคภูมิใจ แต่อย่างในกรณีที่เกิดขึ้นอยู่นี้ ทุกอย่างถูกปั้นแต่งขึ้นมาทั้งสิ้น จิมมี ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ ทั้งสิ้นกับงานของผมในฮ่องกง” และว่า “แต่คดีของจิมมีนั้นไม่ใช่เรื่องของความจริง เป็นเรื่องของการนำเสนอเรื่องราวของปักกิ่ง”
ในเวลานี้ เดอ พัลฟอร์ด อาศัยอยู่ในอังกฤษและเป็นผู้นำกลุ่มพันธมิตรที่ประกอบด้วยนักการเมืองจากทั่วโลก เพื่อติดตามดูความเป็นไปด้านประชาธิปไตยในจีน
นอกจาก เดอ พัลฟอร์ด แล้ว ผู้ที่ถูกทางการฮ่องกงกล่าวหาว่า สมรู้ร่วมคิดกับไล มีอาทิ ชิโอริ ยามาโอะ นักการเมืองชาวญี่ปุ่น บิลล์ เบราเดอร์ ผู้หนุนหลังด้านการเงิน และ ฟินน์ เลา นักเคลื่อนไหวที่ลี้ภัยไปต่างประเทศ
การดำเนินคดีกับไล เป็นคดีความหมุดหมายที่หลายฝ่ายมองว่าจะบ่งชี้สถานการณ์เสรีภาพสื่อมวลชนและความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการในเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ซึ่งเดิมทีเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และถูกส่งคืนให้จีนในปี 1997 แต่ยังคงไว้ซึ่งแนวทางเสรีภาพของพลเรือนในแบบตะวันตกอยู่
ที่ผ่านมา สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรเรียกร้องให้ปล่อยตัวไลโดยทันที และระบุด้วยว่า การพิจารณาคดีที่เกิดขึ้นนั้น มีแรงจูงใจทางการเมือง
- ที่มา: วีโอเอ