Your browser doesn’t support HTML5
คงไม่มีใครอยากที่จะกระเป๋าสตางค์หาย และเช่นเดียวกันคุณก็ไม่อยากรู้สึกว่าเป็นคนไม่ดี ถ้าว่าเป็นผู้พบกระเป๋าสตางค์ที่ตกอยู่แล้วไม่พยายามนำไปคืนเจ้าของ
แน่นอนว่าแทบไม่มีใครต้องการอยู่กับความรู้สึกที่ว่า “เราคือคนขโมยของผู้อื่น” แต่สำนึกนี้จะสามารถเอาชนะความเย้ายวนใจของเงินในกระเป๋าสตางค์ที่เก็บได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องศึกษา
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนของสหรัฐฯ นำโดยอาจารย์อาเลี่ยน โคห์น (Alian Cohn) พยายามหาคำตอบในเรื่องนี้ งานวิจัยของเขาได้ทดสอบพฤติกรรมของคนในหลายประเทศ ซึ่งถือเป็นการศึกษาเรื่องความซื่อสัตย์ในหลากหลายวัฒนธรรมเป็นครั้งแรกของโลก
ในการทดลองครั้งนี้ กระเป๋าสตางค์ทั้งหมด 17,303 ใบถูกนำไปวางไว้ตามสถานที่สถานธารณะตามเมืองใหญ่ 355 แห่งทั่วโลก บางใบมีเงินสกุลท้องถิ่นของประเทศต่างๆ แปลงเป็นเงินไทยราว 400 กว่าบาท แต่บางใบไม่มีเงินอยู่เลย
หากลองคิดว่าคุณเป็นผู้เจอกระเป๋าสตางค์วัดใจเหล่านี้ คุณจะทำอย่างไรกับมัน?
ถ้าคุณนำมันไปคืน คุณคือคนส่วนใหญ่ ตามผลของการศึกษาชิ้นนี้
อาจารย์อาเลี่ยน โคห์น และคณะ พบว่าคนใน 38 ประเทศจากทั้งหมด 40 ประเทศมีเเนวโน้มที่จะคืนกระเป๋าสตางค์มากกว่าที่จะเก็บไว้เอง และถ้าเปิดไปแล้วพบเงิน ความเป็นไปได้ที่จะถูกนำไปคืนเจ้าของยิ่งมากขึ้น จาก 40 เปอร์เซ็นต์ เป็น 51 เปอร์เซ็นต์
นักวิจัยสนใจด้วยว่าถ้าเงินมีมูลค่ามากขึ้นเป็นเกือบ 3,000 บาท ปฏิกิริยาของคนจะเป็นอย่างไร?
พวกเขาเพิ่มเเรงจูงใจด้วยเงินในสามประเทศ คือโปแลนด์ สหรัฐฯ และอังกฤษ แต่ปรากฏว่าผลที่ได้กลับตรงกันข้าม คือคนยิ่งนำกระเป๋าสตางค์ไปคืน จากร้อยละ 61 เป็นร้อยละ 72
ข้อมูลนี้ทำให้หลายคนแปลกใจ เพราะคณะวิจัยระบุว่าทั้งผู้คาดเดาผลจากการเพิ่มเงินในกระเป๋าสตางค์ ที่บุคคลซึ่งเชี่ยวชาญและไม่เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ต่างบอกว่ายิ่งเจอเงินมาก คนก็น่าจะเก็บกระเป๋าสตางค์ไว้เองมากขึ้น และถ้ายิ่งเพิ่มปัจจัยอื่นที่สำคัญต่อเจ้าของ แต่ไม่มีประโยชน์ต่อผู้เก็บกระเป๋าสตางค์ได้ อย่างเช่น กุญเเจ ความอยากคืนก็จะเพิ่มขึ้น
ผลการทดลองชี้ว่า คนใน 40 ประเทศมีพฤติกรรมซื่อสัตย์ไปในทางเดียวกัน โดยมีสวิตเซอร์เเลนด์ และนอร์เวย์ เป็นประเทศที่คนจะคืนกระเป๋าสตางค์มากที่สุด และที่รั้งท้ายคือ จีนและโมรอคโค
และเมื่อถามต่อไปว่าการทดลองนี้มีประโยชน์อย่างไร มากกว่าความสบายใจที่ได้รับว่า เราน่าจะได้กระเป๋าสตางค์คืนหากทำมันหล่นหาย?
นักวิชาการบอกว่า รัฐอาจใช้ข้อมูลเรื่องนี้ไปวางนโยบายให้ประชาชนมีความซื่อสัตย์ทางธุรกิจและสังคมได้ เพราะดูเหมือนว่ามนุษย์เราให้คุณค่ากับความเป็นคนดี และรับรู้ได้ถึงความลำบากของผู้อื่น
แต่คำถามที่ผลงานวิจัยนี้ยังไม่ได้ตอบ คือ เหตุใดคนยังเลือกที่จะโกงในโอกาสอื่นๆ และผู้วางนโยบายจะกระตุ้นให้คนซื่อสัตย์ได้อย่างไร ในสถานการณ์เหล่านั้น
(รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียงจากรายงานของผู้สื่อข่าว Kerry Hensley)