การทดลองวัคซีนเอชไอวีในแอฟริกาใต้ประสบความล้มเหลว

Un chercheur sud-africain dans un laboratoire à Shoshaguve, près de Pretoria, en Afrique du Sud, le 30 novembre 2016.

การทดลองวัคซีนต้านเชื้อไวรัสเอชไอวีซึ่งทำให้เกิดโรคเอดส์ครั้งล่าสุด ได้ยุติลงชั่วคราวเนื่องจากพบว่าไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

สถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐฯ (NIH) ที่ตั้งอยู่ในรัฐแมรี่แลนด์ประกาศเมื่อวันจันทร์ว่า ได้ยุติการศึกษาวัคซีน HVTN 702 ในแอฟริกาใต้ตามคำแนะนำของคณะกรรมการอิสระที่กำกับดูแลข้อมูลและความปลอดภัย

การศึกษาที่มีชื่อเรียกว่า Uhambo นี้ ใช้อาสาสมัครที่เสี่ยงติดเชื้อ ทั้งเพศหญิงและเพศชาย อายุระหว่าง 18-35 ปี จำนวน 5,407 คนใน 14 พื้นที่ทั่วแอฟริกาใต้ เริ่มตั้งแต่ปีพ.ศ. 2559 โดยอาสาสมัครเหล่านี้จะถูกสุ่มให้วัคซีน ทั้งที่เป็นวัคซีนที่มีแนวโน้มให้ผล และวัคซีนหลอก 6 ครั้ง

ในช่วงระยะเวลา 18 เดือน ซึ่งเป็นเวลาที่เพียงพอที่วัคซีนจะไปกระตุ้นการตอบสนองของภูมิคุ้มกันในร่างกาย นักวิจัยพบว่าในกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีน มีผู้ติดเชื้อเอชไอวี 129 ราย และในกลุ่มผู้ที่ได้รับยาหลอก มีผู้ติดเชื้อเอชไอวี 123 ราย และการศึกษานี้ยังพบว่าไม่มีหลักฐานสำคัญใดๆ ที่ชี้ว่าการฉีดวัคซีนสามารถลดหรือเพิ่มอัตราการติดเชื้อได้

การทดลองในแอฟริกาใต้นั้นเป็นการทดลองที่ต่อยอดมาจากการทดลองวัคซีน RV144 ครั้งก่อนหน้านี้ในประเทศไทย RV144 เป็นวัคซีนชนิดเดียวที่เคยประสบความสำเร็จในการป้องกันไวรัสเอชไอวีในระดับต่างๆ นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าพวกเขาจะยังคงศึกษาผลของการทดลองวัคซีน HVTN 702 ต่อไปเพื่อดูว่าเหตุใดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในระดับปานกลางในประเทศไทยจึงไม่สามารถใช้ได้ผลในแอฟริกาใต้

อย่างไรก็ตาม นักวิจัยกล่าวว่าไม่มีความกังวลใดๆ ในเรื่องความปลอดภัยของวัคซีนดังกล่าว

บรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างแสดงความผิดหวังในการตัดสินใจยุติการทดลองใช้วัคซีนในแอฟริกาใต้ครั้งนี้

Linda-Gail Bekker อดีตประธานสมาคมโรคเอดส์ระหว่างประเทศและประธานกลุ่ม Enterprise Advisory Group กล่าวว่า แม้ว่าการทดลองในครั้งนี้จะล้มเหลว แต่ยังจำเป็นต้องดำเนินการค้นหาวัคซีนป้องกันไวรัสเอชไอวีกันต่อไป และว่าการที่อัตราการติดเชื้อเอชไอวีที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลงในภูมิภาคนี้ น่าจะกระตุ้นความสนใจและการลงทุนในการศึกษาวิจัยอย่างเร่งด่วนจากนานาประเทศมากขึ้น

Anthony Fauci ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ NIH กล่าวว่าวัคซีนต้านเอชไอวีนั้นมีความสำคัญอย่างมากต่อการยุติการแพร่ระบาดที่มีอยู่ทั่วโลก ทางสถาบันคาดหวังว่าวัคซีนชนิดนี้จะสามารถใช้งานได้ แต่น่าเสียดายที่การทดลองล้มเหลว ข้อมูลของ UNAIDS ระบุว่าแอฟริกาใต้มีอัตราการติดเชื้อเอชไอวีที่สูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ในปีพ.ศ. 2561 มีผู้ที่มีอายุระหว่าง 15 ถึง 49 ปีติดเชื้อเอชไอวีมากกว่า 20% และมีการทดลองใช้วัคซีนต้านเอชไอวีมากมายหลายชนิดมาตั้งแต่ช่วงปีค.ศ. 1990