Your browser doesn’t support HTML5
หนังสือพิมพ์ New York Times รายงานว่า ในช่วงที่รัฐมนตรี Hillary Clinton ทำงานอยู่ที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ระหว่างปี ค.ศ. 2009 -2013 นั้น เธอไม่เคยมีบัญชีอีเมลของกระทรวงอย่างเป็นทางการ แต่ใช้บัญชีอีเมลส่วนตัวในการทำงานเป็นปกติวิสัย
คำถามที่ตามมา ก็คือ ทำไมเรื่องนี้จึงเป็นข่าว?
ตามกฎหมายของสหรัฐ จดหมายและอีเมลที่เจ้าหน้าที่รัฐบาล โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ระดับรัฐมนตรีและประธานาธิบดี ถือว่าเอกสารเหล่านั้น เป็นบันทึกเอกสารของรัฐบาล และจะต้องมีการเก็บรักษา เพื่อที่คณะกรรมาธิการของรัฐสภา นักประวัติศาสตร์ และสื่อ จะสามารถเข้าถึงได้ โดยมีข้อยกเว้นให้กับเอกสารลับบางประเภท
ส่วนการใช้อีเมลส่วนตัวนั้น ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ให้จำกัดไว้เฉพาะกรณีฉุกเฉิน เช่น เมื่อ server ของระบบคอมพิวเตอร์ไม่ทำงาน
เมื่อราวๆสองเดือนที่แล้ว กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐได้ทำเรื่องขออีเมลในบัญชีส่วนตัวของรัฐมนตรี Clinton เพื่อส่งต่อให้สำนักงานหอจดหมายเหตุและบันทึกเอกสารแห่งชาติ (NARA) เก็บรักษาตามที่กฎหมายกำหนดไว้
ที่ปรึกษาของรัฐมนตรี Clinton ได้ทบทวนดูอีเมลในบัญชีส่วนตัวของเธอและเลือกอีเมลที่เห็นว่าเกี่ยวข้องกับงานของกระทรวงการต่างประเทศไปให้ทางกระทรวงฯ รวมทั้งหมด 55,000 หน้า
รายงานของ New York Times กล่าวว่า ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่า มีอีเมลทั้งหมดกี่ฉบับในบัญชีอีเมลส่วนตัวของรัฐมนตรี Clinton และที่ปรึกษาของเธอใช้หลักเกณฑ์ใดในการตัดสินว่าควรจะส่งอีเมลฉบับไหนบ้างให้ทางกระทรวงฯ
กฎของสำนักงานหอจดหมายเหตุและบันทึกเอกสารแห่งชาติที่บังคับใช้ในช่วงเวลานั้น กำหนดว่าต้องเก็บรักษาอีเมลใดๆก็ตามที่ส่งออกหรือได้รับในบัญชีอีเมลส่วนตัว ซึ่งรัฐมนตรี Clinton และผู้ช่วยไม่ได้ทำ
นาย Nick Merrill โฆษกของรัฐมนตรี Clinton ในขณะนี้ มีถ้อยแถลงออกมาอธิบายว่า รัฐมนตรี Clinton เขียนอีเมลถึงเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ในกระทรวงฯ โดยใช้อีเมลทางการของคนเหล่านั้น และมีความคาดหมายอย่างเต็มที่ว่า ได้มีการเก็บรักษาอีเมลเหล่านั้นไว้ แต่โฆษกผู้นี้มิได้ให้ความกระจ่างด้วยว่า เกิดอะไรขึ้นกับอีเมลที่รัฐมนตรี Clinton อาจเขียนถึงผู้นำต่างประเทศ บุคคลต่างๆ ในภาคเอกชน หรือเจ้าหน้าที่รัฐบาลในหน่วยงานอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม เขายืนยันว่า รัฐมนตรี Clinton ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติและเจตนาของกฎหมาย
แทบจะไม่เคยมีการลงโทษสำหรับการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายการเก็บรักษาเอกสารบันทึกของรัฐบาล ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสำนักงานหอจดหมายเหตุและบันทึกเอกสารแห่งชาติมีสมรรถนะในการบังคับใช้กฎหมายไม่มากนัก
รายงานของ New York Times กล่าวไว้ด้วยว่า พลเอก Colin Powell อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศระหว่างปี ค.ศ. 2001 – 2005 เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงอีกผู้หนึ่งที่ใช้บัญชีอีเมลส่วนตัวในการติดต่อกับเจ้าหน้าที่รัฐบาล เอกอัครราชทูตและผู้นำต่างประเทศ ในเวลานั้นยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการเก็บรักษาเอกสารนี้ออกมา
การค้นพบเรื่องการใช้อีเมลส่วนตัวในการทำงานของรัฐมนตรี Clinton สืบเนื่องมาจากการสืบสวนของคณะกรรมาธิการรัฐสภา (Committee on Oversight and Government Reform) ในเรื่องการโจมตีสถานกงสุลอเมริกันที่นคร Benghazi ในประเทศลิเบียเมื่อปี ค.ศ. 2012 คณะกรรมาธิการรัฐสภาชุดนี้ต้องการขุดคุ้ยหาการสื่อสารติดต่อระหว่างรัฐมนตรี Clinton กับผู้ช่วยของเธอในเรื่องดังกล่าว
ในขณะเดียวกัน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐแถลงว่า ทางกระทรวงฯ ได้ทบทวนอีเมลที่ได้รับจากรัฐมนตรี Clinton และได้จัดส่งอีเมลที่เห็นว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่ Benghazi ให้คณะกรรมาธิการรัฐสภาชุดนี้แล้ว เป็นจำนวน 300 ฉบับ หรือประมาณ 900 หน้า
การเปิดเผยเรื่องการใช้บัญชีอีเมลส่วนตัวของรัฐมนตรี Clinton มีขึ้นในขณะที่มีข่าวว่า รัฐมนตรี Clinton อาจจะประกาศตัวในช่วงสองสามเดือนข้างหน้า ว่าจะลงแข่งขันเพื่อให้ได้เป็นตัวแทนของพรรค Democrat ในการเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐปลายปีหน้า และก็ยังสะท้อนเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่มีมานานแล้วด้วยว่า ทั้งอดีตประธานาธิบดี Bill Clinton และตัวรัฐมนตรี Hillary Clinton ไม่มีความโปร่งใสและชอบที่จะเก็บความลับ