สถานศึกษาสหรัฐฯ-หน่วยงานไทยขยับ รับมือช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ‘ทรัมป์’

(แฟ้มภาพ/AP)

การกวดขันคนเข้าเมืองในยุครัฐบาล 'ทรัมป์' สมัยแรก เป็นสิ่งที่ชาวต่างชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างตื่นตัวว่าจะเกิดขึ้นอีกครั้งหรือไม่ในรัฐบาลใหม่ ที่อีกเพียงหนึ่งเดือนก็จะขึ้นสู่ตำแหน่ง

หนึ่งในคำสั่งฝ่ายบริหารที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามตั้งแต่สัปดาห์แรกที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2017 คือคำสั่งระงับการเดินทางเข้าสหรัฐฯ จากกลุ่มประเทศมุสลิมเจ็ดประเทศ ก่อนที่ต่อมาก็ขยายคำสั่งครอบคลุมไปยังอีกหลายประเทศ

กลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายนี้ตรง ๆ คือ กลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่อยู่ระหว่างการเรียนการสอนในสถานศึกษาของสหรัฐฯ ที่เดินทางออกนอกประเทศและประสบปัญหาในการเดินทางกลับเข้าประเทศ ไม่สามารถกลับเข้าไปศึกษาต่อได้อย่างน้อยหลายร้อยคนตั้งแต่ช่วงแรกของการประกาศบังคับใช้

ในจังหวะเวลาที่ทรัมป์ชนะเลือกตั้งและจะหวนคืนสู่ทำเนียบขาวอีกครั้ง สถานศึกษาหลายแห่งในสหรัฐฯ ส่งคำแนะนำถึงนักศึกษา เพื่อให้เตรียมตัวล่วงหน้า

เฉิน (นามสมมติ) นักศึกษาชาวจีน จากมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน อ่านจดหมายที่ได้รับจากสำนักงานนักศึกษานานาชาติของมหาวิทยาลัย ที่แนะนำให้นักศึกษาเดินทางกลับมายังสหรัฐฯ ก่อนวันปฏิญานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 20 มกราคม 2025

จดหมายดังกล่าวระบุว่านี่เป็นเพียงหนึ่งในคำแนะนำหลายอย่างเพื่อเลี่ยงเหตุไม่คาดฝันด้านการเดินทางเข้าประเทศ สืบเนื่องจากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นจากคำสั่งในรัฐบาลทรัมป์สมัยแรก และย้ำว่า “นี่ไม่ใช่เงื่อนไขหรือข้อบังคับจากมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน (และ) ไม่ได้อ้างอิงกับนโยบายหรือคำแนะนำใด ๆ จากรัฐบาลสหรัฐฯ ในปัจจุบัน”

การควบคุมการเข้า-ออกของคนต่างชาติเป็นหนึ่งในนโยบายที่ทรัมป์ใช้หาเสียงอยู่บ่อยครั้ง ถึงแม้ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการจัดการกับผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 47 เคยประกาศว่าจะรื้อฟื้นคำสั่งห้ามเดินทางต่อชาติมุสลิมขึ้นมาอีกครั้งเช่นกัน

ท่ามกลางความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีน และท่าทีแข็งกร้าวที่ทรัมป์มีต่อรัฐบาลปักกิ่ง ทำให้นักศึกษาชาวจีนคนนี้กังวลว่า คนเชื้อสายจีนในสหรัฐฯ รวมถึงตัวเขาอาจได้รับผลกระทบไปด้วย

เฉิน ให้สัมภาษณ์โดยขอไม่เปิดเผยชื่อและใบหน้า ด้วยเหตุผลในความกังวลเกี่ยวกับการพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่อาจส่งผลกระทบต่อสถานะ การอยู่อาศัย และสวัสดิภาพของตัวเองในอนาคต

“ข้อกังวลที่ใหญ่ที่สุดของผมก็คือ มันมีคำพูดที่ว่า เวลาเทพเจ้าสู้กัน คนที่เดือดร้อนคือเหล่าไพร่ฟ้า และเราในตอนนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าทรัมป์ หรือประธานาธิบดีของเรา สี จิ้นผิง ต้องการจะทำอะไร และหากสถานการณ์ไม่ดี เราอาจเป็นหนึ่งในคนที่ได้รับผลกระทบ”

มหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ อีกหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยคอร์แนล มหาวิทยาลัยเวสเลียน หรือมหาวิทยาลัยแห่งแมสซาชูเซตส์ มีคำแนะนำลักษณะนี้เช่นกัน ทำให้สำนักงานผู้ดูแลนักเรียนไทยในสหรัฐฯ หรือ สนร. ส่งข้อแนะนำดังกล่าวไปยังนักเรียนในสังกัดเกือบจะทันที

ปจิตา ดิศกุล ณ อยุธยา อัครราชทูต ฝ่ายการศึกษา สถานเอกอัครราชทูตไทย กรุงวอชิงตัน ระบุว่า หน่วยงานของไทย ทั้งทาง สนร. และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) ได้แจ้งข้อมูลต่อนักเรียนทุนรัฐบาลที่มีอยู่ราว 650 คนทั่วสหรัฐฯ แล้ว

“เราก็จะมีนโยบายเชิงป้องกัน เบื้องต้นเราก็เตือนให้ปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัด อย่าให้ผิดระเบียบข้อบังคับอะไรของสหรัฐฯ แต่ส่วนใหญ่นักเรียนทุนก็ไม่ค่อยมีปัญหา เพราะเราก็เข้าออกประเทศอย่างถูกต้อง”

ทางด้านสิรภพ พิชิตการณ์ นักศึกษาทุนกระทรวงการต่างประเทศของไทย จากมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน ระบุว่าได้รับแจ้งจากทั้งสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนในสหรัฐฯ และจากสถานศึกษา

สิรภพ หวังว่า รัฐบาลทรัมป์จะไม่เพิ่มมาตรการตรวจการเดินทางเข้าประเทศให้เข้มงวดมากขึ้น และไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์การเลือกปฏิบัติ ภายใต้ปัญหาสังคมที่แบ่งขั้วข้างทางความคิดมากขึ้น

“ที่ผมกังวลก็คือประเทศเป็นไบโพลาร์ (แบ่งเป็นสองขั้วข้าง) มากขึ้น ผมกลัวว่าจะมีกระแสเกลียดคนอเชียขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ส่วนตัวไม่ได้มีประสบการณ์ แต่ก็กังวล เพราะโลกทุกวันนี้ก็ค่อนข้างไปเร็ว ไหนจะมีข่าวปลอมต่าง ๆ ที่เพิ่มมากขึ้น ก็อาจจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ผมกังวลในรัฐบาลทรัมป์”

เฉินหวังว่าในระยะเวลาสี่ปีข้างหน้า ความสัมพันธ์ทางการค้าและการทูตระหว่างสหรัฐฯ กับจีนจะดีขึ้น และหวังว่าทรัมป์จะไม่มองการมีนักศึกษาจีนในสหรัฐฯ เป็นภัยคุกคามของประเทศ

เฉินกล่าวว่า “จีนและสหรัฐฯ ผ่านขาขึ้นและขาลงมาแล้ว...พวกเราผ่านอะไรกันมาเยอะ ท้ายที่สุด ในฐานะคนธรรมดาจริง ๆ เราหวังว่าพวกเราจะสามารถใช้ชีวิตที่ดีได้”

ในปีการศึกษา 2023-2024 จำนวนนักศึกษาต่างชาติที่อยู่ในสหรัฐฯ มีจำนวนมากกว่า 1.1 ล้านคน ถือว่าเพิ่มขึ้นจากภาคเรียนที่แล้ว 7% และในจำนวนนี้เป็นนักศึกษาใหม่ที่เพิ่งเคยมาเรียนที่นี่ราว 290,000 คน ถือว่ามากเทียบเท่ากับช่วงเวลาก่อนโควิด-19 ระบาด อ้างอิงจากรายงานประจำปีของสถาบันการศึกษานานาชาติ (IEE) ที่เก็บข้อมูลจำนวนนักศึกษาในสหรัฐฯ มาตั้งแต่ปี 1919

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา ว่าที่ประธานาธิบดี ทรัมป์ ไม่ได้กล่าวถึงมาตรการควบคุมนักศึกษาต่างชาติเป็นการเฉพาะ ทั้งในช่วงการหาเสียงและหลังชนะเลือกตั้ง แต่กลับเน้นย้ำว่าต้องการจะมอบสถานะผู้พำนักถาวร หรือกรีนการ์ด ให้กับนักศึกษาที่จบการศึกษาในสหรัฐฯ เพื่อให้คนเหล่านี้ทำงานอยู่ในสหรัฐฯ