นาซ่าช่วยพัฒนาอุปกรณ์ไฮเทคตัวใหม่เพื่อช่วยในงานค้นหาผู้รอดชีวิตของหน่วยงานกู้ภัย

  • Suzanne Presto

Your browser doesn’t support HTML5

เทคโนโลยีใหม่ขององค์การนาซ่าช่วยค้นหาผู้ที่ติดใต้ซากปรักหักพัง

องค์การสำรวจอวกาศแห่งสหรัฐหรือนาซ่ากำลังช่วยกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิพัฒนาอุปกรณ์ไฮเทคเพื่อช่วยค้นหาคนที่ติดอยู่ใต้ซากปรักหักพังและคาดว่าในอนาคตเทคโนโลยีนี้อาจจะสามารถนำไปใช้ในงานกอบกู้ชีวิตทั่วโลกได้

ทีมเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยที่หน่วยฝึกอบรม Virginia Taskforce 1 กำลังทดสอบอุปกรณ์ตรวจจับสัญญาณด้วยเรด้าที่ทันสมัยเรียกว่า FINDER ย่อมาจากคำว่า Finding Individuals for Disaster and Emergency Response อุปกรณ์เรด้าแบบเคลื่อนที่นี้สามารถตรวจค้นหาเหยื่อที่หมดสติและติดอยู่ใต้ซากอาคารที่เสียหายได้ลึกถึงสิบเมตร ด้วยการตรวจจับสัญญาณการเคลื่อนไหวเพียงเบาๆของร่างกายของเหยื่อเท่้านั้น

นี่เป็นตัวอย่างของผลงานทางนวัตกรรมชิ้นหนึ่งขององค์การสำรวจอวกาศแห่งสหรัฐที่จะเป็นประโยชน์ต่อคนบนโลก

คุณจิม ลุคซ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้แห่งองค์การน่าซ่าที่รัฐแคลิฟอร์เนียกล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่า อุปกรณ์เรด้า ไฟเดอร์ นี้พัฒนามาจากเทคโนโลยีที่ใช้ในการติดตามค้นหา ซึ่งองค์การนาซ่าใช้ในงานเฝ้าระวังตัวยานอวกาศ

คุณลุคซ์กล่าวว่า ไฟเดอร์ ทำงานด้วยการส่งสัญญาณคลื่นไมโครเวฟความถี่ต่ำ คลื่นนี้จะส่องสว่างซากปรักหักพังและบางส่วนของคลื่นจะสามารถเดินทางผ่านซากอาคารลงไปได้แล้วจะสะท้อนกลับมาหากไปกระทบกับร่างกายของเหยื่อ เขากล่าวว่าอุปกรณ์ค้นหาเหยื่อไฟเดอร์นี้สามารถจับคลื่นสะท้อนจากซากอาคารที่ไม่เคลื่อนไหวและยังจับคลื่นสะท้อนจากตัวเหยื่อ ที่มีการเคลื่อนไหวเพียงเบาๆอย่างแรงขยับขึ้นลงแบบอ่อนๆของผิวหนังคนเราจากการหายใจและการเต้นของหัวใจ ตัวไฟเดอร์มีความละเอียดอ่อนสูงในการตรวจวัดและสามารถตรวจจับการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างอ่อนๆนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คุณลุคซ์กล่าวว่านอกจากนี้ อุปกรณ์เรด้านี้ยังมีขนาดเล็ก สะดวกในการพกพาและใช้งานง่ายด้วย

เขากล่าวว่าเมื่อตัวเรด้าพกพานี้เริ่มทำงานมันจะจัดเก็บข้อมูลนานประมาณครึ่งนาทีเพราะนั่นคือระยะเวลาที่คุณต้องใช้ในการตรวจค้นหาแรงเต้นของหัวใจและการหายใจของเหยื่อ หลังจากนั้นอุปกรณ์เรด้าจะทำการประมวลข้อมูลแล้วแสดงผลการตรวจค้นแก่ผู้ใช้

คุณแมทธิว แทมมิลโลว์ แห่ง Virginia Taskforce 1 กล่าวว่า ตัวไฟเดอร์ สามารถใช้เป็นอุปกรณ์เสริมเครื่องมืออื่นๆที่ใช้ในงานกอบกู้ชีวิต อาทิ อุปกรณ์จับเสียงและสุนัขกู้ภัย ในฐานะที่เป็นตัวค้นหาที่ช่วยเจ้าหน้าที่ตัดสินใจได้ว่าควรค้นหาเหยื่อในอาคารไหนเป็นอันดับแรก

เขากล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่าเทคโนโลยีค้นหาประเภทนี้ รวมทั้ง ไฟเดอร์ สามารถช่วยหน่วยงานกู้ภัยตัดสินได้ว่าอาคารที่ถล่มลงมาอาคารใดที่ควรได้รับการกอบกู้ก่อนเพราะมีความเป็นไปได้ในการค้นพบเหยื่อที่ยังมีชีวิตและจำเป็นต้องระดมเจ้าหน้าที่กู้ภัยเข้าไปค้นหาผู้รอดชีวิตในจุดนั้นเสียก่อน

ไฟเดอร์ อุปกรณ์สัญญาณเรด้าค้นหาเหยื่อสามารถตรวจจับแรงเคลื่อนไหวของเหยื่อที่ติดอยู่ใต้ซากปรักหักพังได้ลึกถึง 30 เมตรทั้งในจุดที่เปิดโล่งหรือในจุดที่ซ่อนอยู่หลังคอนกรีตหนา 6 เมตร

อย่างไรก็ตาม ไฟเดอร์ ยังอยู่ระหว่างการทดสอบ องค์การนาซ่าชี้ว่าอาจจะสามารถนำไฟเดอร์ออกไปใช้งานในการกู้ชีวิตได้ในราวๆต้นปีหน้า