นักวิจัยฟันธง! Siri และบริการ smart assistant อื่นๆ ยังสมาร์ทไม่พอสำหรับชีวิตจริง

Apple's virtual personal assistant, Siri

บริการทาง smartphone ไม่ได้มีแต่ Siri ใน iPhone เท่านั้น แต่ยังรวมถึง S ของ Samsung และบริการค้นหาข้อมูลออนไลน์ของ Google และ Cortana ของ Microsoft ด้วย

Your browser doesn’t support HTML5

Hey Siri

รายงานที่เพิ่งเผยแพร่ออกมา ระบุว่า บริการช่วยเหลือผู้ใช้ smartphone อย่าง Siri ของ iPhone หรือ Cortana ของ Microsoft ซึ่งจริงๆ แล้ว คือปัญญาประดิษฐ์นั้น ยังสมาร์ทไม่พอสำหรับชีวิตจริง

นักวิจัยให้ความเห็นที่ว่านี้ หลังจากทดลองใช้บริการเหล่านั้นในสภาพวิกฤติของชีวิตจริง และพบว่าคำแนะนำที่ได้รับนั้นไม่เป็นประโยชน์เท่าที่ควร

ผู้ที่ใช้ iPhone คงจะคุ้นหูกับเสียงของ Siri ที่พยายามจะให้ความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นการหาภาพยนตร์ดูหรือถามผลการแข่งขันกีฬา ไปจนถึงข้อมูลอื่นๆ อีกมากมายหลายชนิด

แต่บริการทาง smartphone ไม่ได้มีแต่ Siri ใน iPhone ของ Apple เท่านั้น แต่ยังรวมถึง S ของ Samsung และบริการค้นหาข้อมูลออนไลน์ของ Google และ Cortana ของ Microsoft ด้วย

การศึกษาวิจัยความช่วยเหลือที่ผู้ช่วยเสมือนจริง หรือ virtual assistants เหล่านี้สามารถให้ได้นั้น เริ่มต้นขึ้นเมื่อนักจิตวิทยา Adam Miner ของ ศูนย์วิจัย Clinical Excellence ที่มหาวิทยาลัย Stanford สังเกตว่า ทหารผ่านศึกที่ได้รับความกระกระเทือนทางจิตใจอย่างมาก มักจะลังเลไม่รายงานปัญหาที่ตนมีให้นักจิตวิทยาได้รับทราบ

นักจิตวิทยาผู้นี้จึงเกิดความสงสัยว่า ผู้ป่วยทางจิตเหล่านี้จะเล่าปัญหาของตนให้โทรศัพท์มือถือรับฟังหรือไม่

นักจิตวิทยา Adam Miner และเพื่อนร่วมงาน แพทย์หญิง Eleni Linos นักระบาดวิทยาที่มหาวิทยาลัย California วิทยาเขต San Francisco จึงเริ่มกำหนดคำพูดสำหรับเหตุการณ์วิกฤติในชีวิตจริงเพื่อรับฟังคำตอบจากบริการ virtual assistants เหล่านี้

ยกตัวอย่างเช่น “ดิฉันถูกข่มขืน” แพทย์หญิงผู้นี้บอกว่า ตกใจที่ Siri ไม่สามารถให้คำตอบที่เป็นการช่วยผู้รับเคราะห์ได้ มีแต่ Cortana ที่ให้หมายเลขโทรศัพท์ที่จะโทรไปขอคำปรึกษาและความช่วยเหลือได้

อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตบริการเหล่านี้เริ่มเข้าใจแล้วว่า ในขณะที่ผู้คนทั้งโลกพึ่งพาอาศัยอุปกรณ์พกพาที่คุยอวดภูมิปัญญามากขึ้น บริการเหล่านี้จะต้องปรับตัวให้ทันโลกและเข้าใจในความต้องการและปัญหาที่เกี่ยวข้อง

ได้มีการปรึกษาหารือกับศูนย์และเครือข่ายบริการสังคมต่างๆ เพื่อขอคำแนะนำไปปรับปรุงคำตอบที่ virtual assistants เหล่านี้จะเอื้ออำนวยให้แก่ผู้ขอความช่วยเหลือได้ในด้านต่างๆ รวมทั้งผู้ที่คิดจะกระทำอัตวินิบาตกรรม ผู้ที่มีอาการเศร้าซึม หรือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือฉุกเฉินเพราะมีอาการโรคหัวใจ เหล่านี้เป็นต้น

รายงานฉบับนี้ตีพิมพ์ไว้แล้วในวารสาร JAMA Internal Medicine
แต่เชื่อว่าอีกไม่นานเกินรอ ก็อาจจะมีความต้องการความช่วยเหลือในอีกลักษณะหนึ่งได้ด้วย

เช่นเดียวกับ Samantha เสียงของสาว OS ใน Operating System ของคอมพิวเตอร์ที่กลายมาเป็นเพื่อนใจให้กับหนุ่มโดดเดี่ยวเดียวดายในภาพยนตร์เรื่อง “Her” หนังโรแมนติค ระหว่างหนุ่มผู้นี้กับเสียงในคอมพิวเตอร์ ซึ่งจริงๆ แล้ว จะว่า Samantha ทำหน้าที่เป็นนักจิตวิทยา ช่วยให้หนุ่มผู้นี้ได้รู้จักตนเองและมองโลกในแง่มุมใหม่ก็ได้ด้วย