Your browser doesn’t support HTML5
คำว่า Helicopter Parenting ซึ่งหมายถึงการที่พ่อแม่ผู้ปกครองคอยวนเวียนดูแลบุตรหลานโดยไม่ยอมปล่อยมือนั้น เริ่มใช้กันในสหรัฐฯ เมื่อราว 40 ปีที่แล้ว
คุณ Julie Lythcott-Haims ผู้เขียนหนังสือชื่อ How to Raise an Adult: Break Free of the Overparenting Trap and Prepare Your Kids for Success เล่าประสบการณ์ส่วนตัวว่า ขณะที่เป็นผู้รับผิดชอบกิจการนักศึกษาใหม่ของมหาวิทยาลัย Stanford สถาบันอุดมศึกษาที่มีชื่อเสียงในรัฐแคลิฟอร์เนียนั้น เธอสังเกตเห็นว่านักศึกษาของมหาวิทยาลัยดังกล่าว มักมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดและเก่งด้านวิชาการ แต่หลายคนไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ และยังต้องอาศัยพ่อแม่ผู้ปกครองเรื่องคำปรึกษาแนะนำ การแก้ปัญหา รวมทั้งการตัดสินใจ
คุณ Julie Lythcott-Haims ยอมรับด้วยว่าเธอเองได้พบว่าตนก็เป็น Helicopter Parent ประเภทหนึ่งเช่นกัน จากการที่เธอยังคอยหั่นเนื้อสำหรับอาหารมื้อเย็นให้บุตรชายวัย 10 ปีแทนที่จะสอนให้ลูกรู้จักช่วยตัวเอง
คุณ Julie Lythcott-Haims ชี้ด้วยว่า Helicopter Parent อาจแบ่งได้เป็นสามลักษณะใหญ่ๆ
หนึ่งคือประเภท Overprotective หรือช่วยปกป้องเกินพอดี เพราะคิดว่าโลกนี้ไม่ปลอดภัยสำหรับบุตรหลานของตน
สองคือประเภท Over directive หรือชอบสั่งบัญชาการ เพราะเชื่อว่าตนรู้ดีที่สุดว่าอะไรจะช่วยให้บุตรหลานของตนประสบความสำเร็จได้
และสามคือประเภท Concierge หรือผู้ปกครองที่มุ่งช่วยเหลือให้บริการเกินควร เพราะต้องการให้ชีวิตบุตรหลานของตนสุขสบายไร้ปัญหา
อย่างไรก็ตาม คุณ Julie Lythcott-Haims เตือนว่าการทำตนเป็น Helicopter Parent นั้นแม้อาจจะสร้างผลดีในระยะสั้น เช่น ช่วยให้การบ้านเสร็จทันเวลาหรือทำให้เด็กรอดพ้นจากการถูกกลั่นแกล้งรังแกก็ตาม
แต่ผลเสียในระยะยาว คือจะทำให้เด็กเหล่านี้ขาดทักษะและการเรียนรู้ การปรับตัว และการตัดสินใจด้วยตนเอง เพื่อแก้ปัญหาในชีวิตจริงสำหรับการเตรียมตัวเพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่อย่างแท้จริงในที่สุด