นักวิจัย ม.ฮาร์วาร์ด ชี้ 'อากาศร้อน' อาจลดความเฉียบแหลมทางความคิด

College students cool themselves inside an inflatable pool during the summer heat, at their dormitory in Wuhan, Hubei province, August 5, 2014.

การศึกษาชิ้นล่าสุดระบุว่า อากาศที่ร้อนอาจบั่นทอนความสามารถในการใช้สมองของกลุ่มตัวอย่างที่เป็นคนวัยหนุ่มสาวได้

Your browser doesn’t support HTML5

นักวิจัยม.ฮาร์วาร์ดชี้อากาศร้อนอาจลดความเฉียบแหลมทางความคิด

นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด รัฐแมสซาชูเสทส์ ของสหรัฐฯ เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักศึกษา 24 คน ซึ่งได้ห้องในหอพักที่มีเครื่องปรับอากาศ และอีก 20 คนนอนในห้องที่ไม่มีแอร์ ในช่วงที่เขตนครบอสตันถูกปกคลุมด้วยคลื่นความร้อน

ในการทดลองนี้มีการบันทึกปัจจัยอื่นๆ นอกจากอุณหภูมิด้วย เช่น ความชื้น ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ และเสียงในห้องนอนของนักศึกษา

ห้องที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศอุณหภูมิจะอยู่ที่ระดับ 26.3 องศาเซลเซียส ส่วนห้องที่มีแอร์ จะเย็นอยู่ในระดับ 21.4 องศา

นักศึกษาที่ร่วมการวิจัยจะถูกวัดการเต้นของหัวใจ การขับเหงื่อและคุณภาพของการนอน และทุกเช้าที่ตื่นขึ้นมานักศึกษาจะต้องทำแบบทดสอบความความจำและความเร็วในการสั่งงานของสมอง เป็นเวลา 12 วัน

ผู้เขียนบทความจากงานวิจัยนี้ โฮเซ ลอเรนท์ (Jose Guillermo Cedeno Laurent) แห่งคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวว่า นักศึกษาที่นอนในห้องที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศได้รับผลกระทบที่บั่นทอนการใช้สมองโดยเฉพาะในเรื่องการสั่งการที่รวดเร็ว

เดซีย์ ชาง (Daisy Chang) ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัย Michigan State University กล่าวเสริมว่า การนอนในที่ที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศทำให้เกิดปัจจัยอื่น นอกจากความร้อนที่กระทบความสามารถของสมอง

เธอบอกว่า ในห้องที่ไม่ได้ติดแอร์ นักศึกษาได้รับผลกระทบจากเสียงจากภายนอก เพราะต้องเปิดหน้าต่างนอน ซึ่งนั่นอาจทำให้หลับไม่สนิทและลดความสามารถในการใช้ความคิดเมื่อตื่นขึ้นมา

ในสหรัฐฯ ความร้อนระดับรุนแรงเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับหนึ่งในบรรดาภัยด้านสภาพอากาศ โดยในช่วงปี ค.ศ. 1999 ถึง 2010 มีผู้เสียชีวิตจากอากาศร้อนรุนแรง 7 พันคนในอเมริกา และเมื่อ 2 ปีก่อนสหรัฐฯ เพิ่งประสบกับปัญหาสภาพอากาศร้อนที่สุดในรอบ 200 ปี

(รายงานโดยผู้สื่อข่าววีโอเอ Sadie Witkowski / รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียง)