"ผิวหนังเทียมผสมสาหร่าย" นวัตกรรมเปลี่ยนโฉมหน้าการปลูกถ่ายอวัยวะเทียม

Your browser doesn’t support HTML5

Artificial Skin That 'Breathes' Could Revolutionize Treatment

นักวิทยาศาสตร์ในชิลีคิดค้นสาหร่ายตกเเต่งพันธุกรรมขึ้นใช้กับผิวหนังเทียม เพื่อช่วยสร้างออกซิเจนหล่อเลี้ยงจากภายในหลังการปลูกถ่ายผิวหนัง

Your browser doesn’t support HTML5

Algae Skin

Tomas Egana นักวิทยาศาสตร์เเห่งมหาวิทยาลัยคาธอลิก ในกรุงซานติอาโก ประเทศชิลี ต้องการพัฒนาวิธีช่วยให้ผิวหนังเทียมได้รับออกซิเจนหล่อเลี้ยง เขากล่าวว่าหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นกับการสร้างเนื้อเยื่อเทียม คือไม่สามารถนำออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงได้หลังการปลูกถ่ายอวัยวะเทียม หรือผิวหนังเทียมจะไม่ได้รับออกซิเจนเพราะยังไม่มีเส้นเลือดเติบโตขึ้นในบริเวณนั้น

เขากล่าวว่า ต้องการค้นหาวิธีที่ช่วยให้ผิวหนังเทียมหรืออวัยวะเทียมได้รับออกซิเจนหล่อเลี้ยงจากภายใน

Tomas Egana ค้นพบวิธีเเก้ปัญหานี้ด้วยการนำ "สาหร่ายจิ๋ว" ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กพบได้ในแหล่งน้ำทั้งจืดและเค็ม สามารถสร้างอาหารขึ้นเองได้ และสาหร่ายจิ๋วสร้างออกซิเจนได้เช่นเดียวกับพืชโดยผ่านการสังเคราะห์เเสง

เขาได้ทดลองนำสาหร่ายจิ๋วมาผสมเข้าไปในวัสดุเทียมหลายๆ ประเภท ยกตัวอย่างเช่นทาลงบนผิวหนังเทียม เมื่อสาหร่ายจิ๋วได้รับเเสง ก็จะเริ่มกระบวนการสังเคราะห์แสงและสร้างออกซิเจนขึ้นหล่อเลี้ยงผิวหนังเทียม

เขากล่าวว่าได้ทดลองทำพันธุวิศวกรรมสาหร่ายจิ๋วเพื่อให้สาหร่ายผลิตยาปฏิชีวนะ ยาต้านอาการอักเสบ และโมเลกุลที่ช่วยกระตุ้นการสร้างเซลล์ใหม่ๆ ซึ่งช่วยให้สร้างผิวหน้งเทียมหรืออวัยวะเทียม ที่มีคุณสมบัตินอกเหนือไปจากจะผลิตออกซิเจนได้เองเเล้ว ยังป้องกันการติดเชื้อเเละส่งเสริมการสร้างเซลล์ใหม่อีกด้วย

Egana ชี้ว่าสาหร่ายจิ๋วตกเเต่งพันธุกรรมนี้ จะนำไปใช้งานได้กับอวัยวะเทียมหลายอย่างนอกเหนือไปจากผิวหนังเทียม เขากล่าวว่าการเลือกใช้สาหร่ายจิ๋วกับผิวหนังเทียมเป็นเเค่ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น

ออกซิเจนเป็นส่วนประกอบที่สำคัญมากสำหรับการบำบัดรักษาโรคต่างๆ และเขากำลังวางแผนนำเทคโนโลยีที่คิดค้นขึ้นนี้ไปใช้กับการรักษาโรคอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกถ่ายอวัยวะเทียม การบำบัดก้อนมะเร็ง หรือการปลูกเนื้อเยื่อใหม่เเก่บาดแผลประเภทอื่นๆ นอกจากแผลจากไฟไหม้

การทดสอบผิวหนังเทียมสีเขียวในสัตว์ทดลองประสบผลสำเร็จ และทีมนักวิจัยกำลังวางเเผนที่จะทดสอบผิวหนังเทียมที่มีส่วนผสมของสาหร่ายนี้ในมนุษย์ ในปี ค.ศ. 2017 นี้

(รายงานโดย Kevin Enochs / เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว)