บ่อยครั้งที่นักกีฬาบนสนามต้องเปลี่ยนทิศทางอย่างฉับไว จนอาจก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บที่ข้อเท้าหรือทำให้เอ็นฉีกขาดได้ ดังนั้นจึงเกิดคำถามในแวดวงวิทยาศาสตร์ ว่าสนามหญ้าจริงหรือสนามหญ้าเทียม แบบไหนที่จะปลอดภัยสำหรับนักกีฬามากกว่ากัน
ในการหาคำตอบ นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่ามีตัวแปรหลายปัจจัย ที่ควรถูกนำมาพิจารณา ได้แก่ อายุและรูปร่างของผู้เล่น สภาพอากาศ สภาพพื้นผิว ประเภทของรองเท้า และผู้เล่นต้องปะทะกับผู้เล่นรายอื่นหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาพื้นผิวของสนามหญ้าได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีใหม่ๆ
การถกเถียงเรื่องนี้ร้อนแรงขึ้นอีกครั้ง เมื่อแอรอน ร็อดเจอร์ส นักกีฬาอเมริกันฟุตบอล จากทีมนิวยอร์ก เจ็ตส์ ได้รับบาดเจ็บจนเอ็นร้อยหวายฉีก ขณะลงแข่งขันระดับอาชีพใน National Football League (NFL) บนสนามหญ้าเทียม แม้จะไม่มีข้อมูลยืนยันว่าหากเหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นบนสนามหญ้าจริงผลลัพธ์จะเป็นเช่นไร แต่หลายฝ่ายพยายามโต้เถียงกันในประเด็นนี้
ดร. คาลวิน ฮวาง แพทย์ประจำทีมอเมริกันฟุตบอลมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และสโมสรฟุตบอล ซาน โฮเซ่ เอิร์ธเควกส์ ให้ความเห็นว่า เทคโนโลยีพัฒนาอยู่เสมอ ทั้งกับสนามหญ้าจริงและสนามหญ้าเทียม นอกจากนี้สนามหญ้าเทียมรุ่นใหม่อาจจะมีความปลอดภัยมากกว่าสนามหญ้าเทียมรุ่นเก่า ดังนั้นการศึกษาที่เกิดขึ้นเมื่อห้าหรือหกปีที่แล้ว ข้อมูลอาจจะไม่รวมถึงสนามหญ้าเทียมรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นใหม่บางส่วน ถึงกระนั้น ดร.ฮวาง กล่าวว่า ตามงานวิจัยที่เขาเห็น ทำให้เชื่อว่าการเล่นบนสนามหญ้าจริงมีความปลอดภัยมากกว่า
เมื่อปีที่ผ่านมา นักวิจัยกลุ่มหนึ่งได้ตีพิมพ์การศึกษาลงวารสาร American Journal of Sports Medicine โดยอ้างอิงบทความจำนวน 53 รายการ ที่ตีพิมพ์ระหว่างปี 1972 ถึงปี 2020 เกี่ยวกับอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นของนักกีฬาสมัครเล่นและนักกีฬามืออาชีพ ทั้งประเภทฟุตบอล อเมริกันฟุตบอล รักบี้ ฮอกกี้ และจานร่อนอัลติเมท
การศึกษาดังกล่าวชี้ว่า อัตราการบาดเจ็บที่เท้าและข้อเท้าบนสนามหญ้าเทียมทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่สูงกว่าเมื่อเทียบกับสนามหญ้าจริง ส่วนอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นบริเวณหัวเข่าและสะโพกมีความใกล้เคียงกันไม่ว่าจะใช้สนามหญ้าประเภทใด นอกจากนี้ผู้เขียนรายงานยังตั้งข้อสังเกตว่า การศึกษาที่รายงานอัตราการบาดเจ็บที่สูงขึ้นจากการใช้งานสนามหญ้าจริง อาจได้รับเงินสนับสนุนจากอุตสาหกรรมผู้ผลิตสนามหญ้าเทียม
สอดคล้องกับรายงานการศึกษาที่วิเคราะห์อาการบาดเจ็บบริเวณเท้าและขาของนักกีฬาอเมริกันฟุตบอล NFL จำนวน 4,801 ราย ระหว่างการแข่งขันฤดูกาลปกติ ระหว่างปี 2012 ถึงปี 2016 การวิจัยดังกล่าวพบว่ามีการบาดเจ็บเพิ่มขึ้น 16% สำหรับการแข่งขันที่ใช้สนามหญ้าเทียมเมื่อเทียบกับสนามหญ้าจริง โดยเชื่อว่าหากใช้สนามหญ้าจริงในการแข่งขันทั้งหมด จะช่วยลดจำนวนผู้บาดเจ็บที่เท้าและขาได้ราว 319 ราย และเมื่อพิจารณาการบาดเจ็บของนักกีฬาที่ไม่ได้เกิดจากการปะทะ ความเสี่ยงของสนามหญ้าเทียมสูงขึ้นอีกประมาณ 20% ต่อหนึ่งเกมการแข่งขัน
ปัจจุบันราวครึ่งหนึ่งของสนามแข่งขัน NFL เป็นสนามหญ้าเทียม โดยสหภาพนักกีฬา NFL มีความประสงค์ที่จะใช้สนามหญ้าจริง และพยายามผลักดันให้เกิดขึ้น แต่ทางด้านองค์กร NFL กลับมองว่า สนามหญ้าเทียมบางส่วนมีความปลอดภัยมากกว่าสนามหญ้าจริง ทั้งสองฝ่ายอ้างอิงข้อมูลการบาดเจ็บของนักกีฬาที่ไม่ได้เกิดจากการปะทะ อย่างไรก็ดี ทั้งคู่ต่างตีความตัวเลขการบาดเจ็บในมุมมองที่ไม่เหมือนกัน
สนามหญ้าเทียม ทำมาจากเส้นใยพลาสติกที่มีลักษณะคล้ายหญ้า โดยจะมีวัสดุกันกระแทกที่ทำจากยางเม็ด ทราย ไม้ก๊อก หรือใยมะพร้าว
ดร.ไบรอัน โคล ศัลยแพทย์ด้านกระดูกและข้อ และยังเป็นแพทย์ประจำทีมบาสเกตบอล ชิคาโก บูลส์ ชี้ว่า “ข้อดีของสนามหญ้าเทียมก็คือ ผู้เล่นจะรู้สึกว่องไวขึ้น และรวดเร็วมากขึ้น แต่ข้อเสียคือมันเร็วไป กีฬาเป็นการปะทะกัน ความเร็วที่เพิ่มขึ้น การปะทะก็เพิ่มมากขึ้น”
ดร. โจเซฟ ดอนเนลลี ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ จาก Stanford Health Care เผยว่าได้รักษาอาการบาดเจ็บเอ็นไขว้หน้าข้อเข่า ให้กับนักฟุตบอลหญิงระดับมัธยมปลายในเขตเบย์แอเรีย ซึ่งส่วนใหญ่เล่นกีฬาบนสนามหญ้าเทียม
ศัลยแพทย์ท่านนี้พบการศึกษาชิ้นหนึ่งในปี 2016 ที่ใช้เครื่องทดสอบไฮดรอลิก จำลองรองเท้าที่มีปุ่มสตั๊ดในลักษณะต่างๆ ทดสอบกับพื้นผิวสนามหญ้าที่ต่างกันไป พบว่าหากใช้รองเท้าที่มีปุ่มสตั๊ดลักษณะคล้ายใบมีดบนสนามหญ้าเทียม จะถือเป็นการจับคู่ที่อันตราย เนื่องจากปุ่มที่คล้ายใบมีดจะไปเพิ่มแรงบิดที่หัวเข่า
ดร. ดอนเนลลี เสริมว่าเราในฐานะผู้เล่นอาจจะไปเปลี่ยนประเภทของสนามหญ้าไม่ได้ แต่เราสามารถเลือกรองเท้าที่มีปุ่มสตั๊ดที่เหมาะสมสำหรับการเล่นบนสนามหญ้าเทียมได้
เช่นเดียวกับผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬาคนอื่นๆ ดร. ดอนเนลลี คิดว่าสนามหญ้าจริงมีความปลอดภัยมากกว่า เขากล่าวว่าจะเกิดแรงบิดน้อยกว่า เมื่อคุณอยู่บนสนามหญ้าจริง ไม่ว่าจะสวมรองเท้าสตั๊ดแบบไหนก็ตาม
นอกจากเรื่องความปลอดภัยของผู้เล่นแล้ว ปัจจัยที่กดดันให้สนามกีฬาขนาดใหญ่เลือกสนามหญ้าเทียมมากกว่าสนามหญ้าจริง คือเรื่องของการเงิน ความยืดหยุ่นสำหรับการใช้จัดกิจกรรม รวมถึงการบำรุงรักษา เพราะหากไม่ดูแลสนามหญ้าจริงให้ดี อาจทำให้ผู้เล่นเกิดอาการบาดเจ็บได้
หนึ่งในทางเลือกที่อาจเป็นคำตอบสำหรับอนาคต คือ “สนามไฮบริด” หรือ “สนามหญ้าเทียมผสม” ตัวอย่างเช่น สนามแลมโบ ฟิลด์ ของทีมอเมริกันฟุตบอล Green Bay Packers ในรัฐวิสคอนซิน ที่ใช้หญ้าสายพันธุ์ “Bluegrass” ถักทอผสมกับเส้นใยสังเคราะห์ โดยได้ใช้งานสนามดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2018
แม้ว่าจะยังไม่มีกฎระเบียบหรือการยืนยันใด ๆ แต่เชื่อว่าการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2026 ที่อเมริกาเหนือ จะใช้สนามหญ้าจริงหรือสนามหญ้าไฮบริดในการแข่งขัน ขณะที่ตัวแทนกรรมาธิการของ NFL เผยว่า เตรียมที่จะผลักดันการใช้สนามไฮบริด สำหรับการแข่งขันในลีกอเมริกันฟุตบอลระดับอาชีพเช่นกัน
- ที่มา: เอพี