อินเดีย เมียนมา บังคลาเทศ และเวียดนามติดรายชื่อประเทศในเอเชียที่ปิดกั้นการเข้าใช้อินเทอร์เน็ตโดยอ้างเหตุผลความมั่นคง

Two students use computers at an internet cafe near their dormitory in Hanoi, Vietnam, September 27, 2012. (AP Photo/Na Son Nguyen)

Your browser doesn’t support HTML5

Govs Disrupt Internet

Access Now หน่วยงานไม่หวังผลกำไรนอกภาครัฐซึ่งตั้งขึ้นเพื่อปกป้องและส่งเสริมสิทธิด้านดิจิทัลของผู้คนทั่วโลกรายงานว่าเมื่อปีที่แล้วมีการปิดกั้นการใช้อินเทอร์เน็ตรวม 155 ครั้งโดยรัฐบาลใน 29 ประเทศทั่วโลก และตัวอย่างใกล้ตัวของเรื่องนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมากับอินเดีย

ในช่วงราวสามสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้คนในเมียนมาได้พบปัญหาการเข้าใช้อินเตอร์เน็ตเพราะในช่วงกลางคืนจะไม่สามารถเข้าใช้ได้จนกระทั่งถึงตอนเช้า ดังนั้นชาวเมียนมาผู้ต้องการค้นหาข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศโดยปราศจากการปิดบังหรือการบิดเบือนจากรัฐบาลจึงหันไปใช้แอพต่างๆ ที่ช่วยหลีกเลี่ยงการปิดกั้นจากทางการโดยอาศัยช่องทางที่เรียกว่า virtual private network หรือ VPN เพื่อเข้าถึงเว็บไซต์และสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ เช่น Facebook หรือ Twitter แบบที่ไม่สามารถตรวจสอบได้แทน

ไม่มีใครทราบเหตุผลที่แท้จริงว่าทำไมรัฐบาลทหารของเมียนมาจึงปิดกั้นการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตในช่วงกลางคืน แต่คำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือทางการเมียนมาอาจจะใช้ช่วงเวลาของการปิดกั้นอินเตอร์เน็ตเพื่อติดตั้งซอฟต์แวร์บางอย่างที่จะช่วยให้การเซ็นเซอร์หรือการติดตามผู้ใช้ทำได้ง่ายขึ้น หรืออีกทฤษฎีหนึ่งก็คือกองทัพเมียนมาอาศัยเวลาที่การสื่อสารทั้งภายในและภายนอกประเทศถูกจำกัดและตัดขาดนี้เพื่อกวาดล้างจับกุมบุคคลต่างๆ

แต่เมียนมาก็ไม่ใช่ประเทศเดียวซึ่งใช้วิธีปิดกั้นการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต เพราะเป็นเพียงประเทศล่าสุดที่ใช้มาตรการดังกล่าว โดยหน่วยงานนอกภาครัฐชื่อ Access Now ที่ทำงานเพื่อปกป้องและส่งเสริมสิทธิด้านดิจิตัลของผู้คนทั่วโลกรายงานว่าเมื่อปีที่แล้วมีรัฐบาลของ 29 ประเทศปิดกั้นอินเตอร์เน็ตรวม 155 ครั้งด้วยกัน

โดยคุณรามาน จิต ซิงค์ ชิมา ผู้อำนวยการนโยบายด้านเอเชียของ Access Now ชี้ว่าการปิดกั้นอินเตอร์เน็ตมีขึ้นเพื่อการควบคุมทางการเมือง โดยในระดับโลกนั้นอินเดียใช้วิธีดังกล่าวมากที่สุดโดยเฉพาะในเขตแคว้นแคชเมียร์ซึ่งอินเดียมีอำนาจควบคุมอยู่ ตามมาด้วยเบลารุสซึ่งปิดกั้นอินเตอร์เน็ตต่อเนื่องยาวนานถึง 61 ชั่วโมงในเดือนสิงหาคมปีที่แล้วหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดี

โดยทั่วไปแล้วรัฐบาลของประเทศที่ปิดกั้นการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตมักอ้างว่ามีความจำเป็นด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงในเวลาวิกฤต หรือเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของข่าวปลอม และก็มีรัฐบาลของหลายประเทศเช่นกันที่ออกกฏหมายด้านความมั่นคงของระบบคอมพิวเตอร์เพื่อให้อำนาจเจ้าหน้าที่มากขึ้นเพื่อควบคุมสิ่งที่ประชาชนสามารถรับรู้หรือแบ่งปันทางอินเตอร์เน็ตได้ รวมทั้งเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของผู้คนบนโลกออนไลน์ด้วย

สำหรับในภูมิภาคเอเชียนั้นหน่วยงาน Access Now ให้ข้อมูลว่าอินเดียยังคงเป็นที่หนึ่งเพราะใช้วิธีดังกล่าวมากที่สุดโดยรวมถึงการลดอัตราความเร็วของการส่งข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตลงให้เหลือเพียงระดับ 2G ในเขตพื้นที่ของแคว้นแคชเมียร์ที่อินเดียปกครองอยู่

นอกจากนั้นเมียนมา ปากีสถาน บังกลาเทศ เวียดนาม และกัมพูชาก็ใช้วิธีปิดกั้นหรือจำกัดสิทธิในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตของประชาชนในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเช่นกัน ซึ่งคุณรามาน จิต ซิงค์ ชิมา ผู้อำนวยการนโยบายด้านเอเชียของ Access Now ได้แสดงความกังวลพร้อมทั้งเตือนว่าการจำกัดการเข้าใช้อินเตอร์เน็ตรวมทั้งกฎหมายความมั่นคงเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตนั้นมีผลกระทบต่อเสรีภาพของการแสดงออกและสิทธิมนุษยชน

นอกจากนั้นแล้วการศึกษาของอีกหน่วยงานหนึ่งชื่อ Top10VPN ยังชี้ด้วยว่าการปิดกั้นอินเตอร์เน็ตส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจเช่นกัน เพราะทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่ารวมถึง 4 พันล้านดอลลาร์ด้วย