กระแสบูมธุรกิจเหมืองคริปโต ทำภาครัฐตื่นตัวตั้งกฎลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม

Screenshot of VOA's Crypto Mining and Climate Change report

การขุดเหมืองเงินดิจิทัล (cryptocurrencies) ให้ได้สกุลเงินหลักที่ได้รับความนิยม เช่น บิตคอยน์​ นั้นจำต้องใช้คอมพิวเตอร์หลายพันเครื่องที่ออกแบบมาพิเศษเพื่อให้สามารถถอดรหัสสมการทางคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนด้วยความรวดเร็ว การขุดเหมืองด้วยวิธีข้างต้นเรียกว่า proof-of-work ซึ่งใช้พลังงานไฟฟ้าจำนวนมหาศาลเพราะคอมพิวเตอร์เหล่านี้ต้องเปิดและเดินหน้าขุดเหรียญตลอดเวลา

Screenshot of VOA's Crypto Mining and Climate Change report

ปัจจุบัน สหรัฐฯ กำลังก่อสร้างเหมืองขุดคริปโตขนาดใหญ่ที่เมือง Rockdale ในรัฐเท็กซัส และเมื่อเสร็จสมบูรณ์​ เหมืองแห่งนี้จะใช้ไฟฟ้าราว 700 เมกะวัตต์ ซึ่งเทียบเท่ากับพลังงานที่ใช้ป้อนเมืองขนาดเล็กในอเมริกาเลยทีเดียว

แต่ สิ่งที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ นั้นต่างจากที่จีนอย่างสิ้นเชิง เพราะเมื่อปีที่แล้ว ทางการปักกิ่งได้สั่งระงับสกุลเงินคริปโต เพราะการใช้เงินประเภทนี้มีความเสี่ยงที่จะกระทบต่อเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ

SEE ALSO: จีนสั่งห้ามสถาบันการเงินทำธุรกิจด้วยสกุลเงินดิจิทัล

ทั้งนี้ ปัจจุบัน สหรัฐฯ ขึ้นแท่นเป็นผู้นำด้านเหมืองขุดคริปโตของโลก ขณะที่ นักการเมืองบางคนพยายามวิเคราะห์และเปรียบเทียบความคุ้มค่าระหว่างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะได้รับและผลกระทบของกระบวนการขุดคริปโตต่อสิ่งแวดล้อม

แฟรงก์ พาลโลน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐจากรัฐนิวเจอร์ซีย์ คือ หนึ่งในกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการสนับสนุนการทำเมืองคริปโต

FILE - Rep. Frank Pallone, D-N.J., speaks during a hearing of the Committee on Energy and Commerce on Capitol Hill, May 8, 2018.

และเมื่อไม่นานมานี้ ส.ส.พาลโล กล่าวระหว่างการให้ข้อมูล คณะกรรมาธิการบริหารด้านพลังงานและพาณิชย์ของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ (House Committee on Energy and Commerce) ว่า “เราไม่ควรที่จะกลับไปเปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ปิดไปแล้วอีกครั้ง หรือชะลอการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินบางแห่งที่เก่ามากและผลิตพลังงานได้ไม่มีประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมการขุดเหมืองคริปโตที่ใช้พลังงานมาจำนวนมหาศาล”

เมื่อปีที่แล้ว โรงงานผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหิน Greenidge Generation ที่ปิดตัวไปแล้วในรัฐนิวยอร์กได้ถูกบริษัทขุดเหมืองคริปโตซื้อไป แต่ปรับให้หันไปใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติแทนถ่านหินในการกลับมาผลิตกระแสไฟฟ้าอีกครั้ง

และเพื่อควบคุมการขุดเหมืองคริปโต ทางด้านสภานิติบัญญัติแห่งรัฐนิวยอร์กจึงผ่านร่างกฎหมายเพื่อยับยั้งไม่ให้ใช้พลังงานจากถ่านหินในการขุดคริปโตด้วยวิธี proof-of-work เป็นเวลาสองปี

ส.ส ลิซ ครูกเกอร์ จากรัฐนิวยอร์ก หวังว่าร่างกฎหมายข้างต้นจะส่งสัญญาณสำคัญของการควบคุมการขุดเหมืองไปไกลกว่ารัฐของเธอ เพราะสิ่งสำคัญคือสามารถขุดได้ แต่ต้องทำให้ถูกต้อง

ขณะเดียวกัน สถานการณ์ในรัฐเท็กซัสนั้นแตกต่างจากที่อื่นพอสมควร เพราะรัฐนี้มีพลังงานมากมายและมีการควบคุมที่ไม่เคร่งครัดนัก และนักขุดเหมืองคริปโตก็ได้รับการต้อนรับที่ดีกว่า

เท็ด ครูซ วุฒิสมาชิกจากรัฐเท็กซัส สังกัดพรรครีพับลิกัน เป็นนักการเมืองคนหนึ่งที่สนับสนุนธุรกิจนี้อย่างเต็มตัว

Ted Cruz

ส.ว.ครูซ กล่าวระหว่างร่วมงานของมูลนิธิ the Heritage Foundation ว่า "ผมอยากให้รัฐเท็กซัสเป็นโอเอซิสของโลกใบนี้สำหรับบิตคอยน์​และคริปโต”

ทั้งนี้ กระแสไฟฟ้าเกือบทั้งหมดที่ผลิตในรัฐเท็กซัสยังมาจากถ่านหินอยู่ และ ส.ว.ครูซ กล่าวว่า เขาอยากเห็นการขุดเหมืองคริปโตในอนาคตที่ใช้พลังงานจากก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นกากที่เหลือจากการกลั่นของน้ำมันมากขึ้น

แต่ก็มีผู้ตั้งคำถามว่า จะเป็นไปได้ไหม ถ้าการขุดคริปโตสามารถทำได้โดยไม่ต้องใช้พลังงานจำนวนมากเลย?

และผู้เชี่ยวชาญบางส่วน ก็ได้เสนอวิธีการขุดที่เรียกว่า proof-of-stake mining ขึ้นมาเป็นตัวเลือก

โอเวน อาร์เดิร์น อาจารย์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์แห่ง University of California Santa Cruz อธิบายว่า “วิธีนี้ใช้พลังงานน้อยกว่าวิธีการขุดแบบ proof-of-work ราว 99% ซึ่งนับเป็นความแตกต่างที่ชัดเจนมาก”

Screenshot of VOA's Crypto Mining and Climate Change report

สำหรับการขุดด้วยคริปโตวิธี proof-of-stake นั้น ผู้ขุดจะได้รับสิทธิ์ในการถูกสุ่มให้เป็นผู้ขุดเหรียญด้วยการฝากสินทรัพย์ หรือ “stake” ไว้ในระบบก่อน ซึ่งต่างจากการลงมือเร่งแก้สมการเพื่อให้เหรียญมาเลย ซึ่งสกุลเงินดิจิทัลหลักอย่าง อิเธอเรียม (Etherium) ได้ประกาศแผนพัฒนาระบบในอนาคตที่จะเปลี่ยนการขุดเหรียญแบบ proof-of-work มาเป็น proof-of-stake ในปีนี้

อย่างไรก็ดี มีผู้ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นแย้งวิธีดังกล่าว ด้วยเหตุผลว่า proof-of-stake อาจก่อให้เกิดการผูกขาดและผลเสียอื่น ๆ ได้

ไบรอัน บรูคส์ ซีอีโอของ Bitfury ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยี Blockchai แห่ง Bitfury กล่าวว่า วิธีขุดเหมืองนี้อาจสร้างปัญหาได้ เช่น การขโมยคริปโต หาก 51% ของนักขุดรายย่อยรวมตัวกันขุดและกลายเป็นศูนย์รวมอำนาจแทน

อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน ภาคธุรกิจคริปโตนั้นมีการขยายตัวและเติบโตอย่างรวดเร็ว รัฐบาลต่าง ๆ ไม่เฉพาะสหรัฐฯ ต้องพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะเรียนรู้และทำความเข้าใจเรื่องนี้ เพื่อที่จะได้สามารถวางกฎการควบคุมและกำกับดูอย่างเหมาะสมในที่สุด

  • ที่มา: วีโอเอ