กูเกิลโดน 10 รัฐฟ้องข้อหาฮั้วเฟสบุ๊กคุมตลาดโฆษณาออนไลน์

Your browser doesn’t support HTML5

Business News


สื่อ AP และ WSJ รายงานว่า อัยการจาก 10 รัฐของสหรัฐฯ ร่วมกันยื่นฟ้องบริษัทเทคโนโลยีกูเกิล (Google) ในวันพุธ กล่าวหาว่าพยายามควบคุมตลาดโฆษณาออนไลน์เพื่อกีดกันคู่แข่ง ถือเป็นคดีความสำคัญคดีที่สองที่กูเกิลเผชิญในช่วงไม่กี่สัปดาห์

การฟ้องร้องครั้งนี้มีขึ้นที่ศาลของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ในรัฐเท็กซัส โดยมุ่งเป้าไปที่บทบาทของกูเกิลในการใช้วิธีที่ซับซ้อนเพื่อเชื่อมโยงผู้ลงโฆษณากับผู้ขายพื้นที่โฆษณาออนไลน์เข้าด้วยกัน ซึ่งอัยการของ 10 รัฐเชื่อว่ากูเกิลใช้วิธีดังกล่าวเพื่อผูกขาดธุรกิจ นอกจากนี้ยังกล่าวหาว่ากูเกิลร่วมมือกับเฟสบุ๊ก (Facebook) เพื่อควบคุมตลาดโฆษณาออนไลน์และจำกัดคู่แข่งด้วย

โดย 10 รัฐดังกล่าว ได้แก่ รัฐอาร์คันซอ ไอดาโฮ เคนตักกี มิสซิสซิปปี มิสซูรี นอร์ธดาโกตา เซาธ์ดาโกตา ยูทาห์ อินเดียนา และเท็กซัส ซึ่งส่วนใหญ่มีผู้ว่าการรัฐสังกัดพรรครีพับลิกัน และบางรัฐในกลุ่มนี้ได้ร่วมกับกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ยื่นฟ้องกูเกิลเมื่อสองเดือนที่แล้วในข้อหาละเมิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาด ด้วยการใช้สถานะผู้ครอบครองตลาดเทคโนโลยีการค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต หรือ search engine เพื่อสกัดคู่แข่ง และพยายามผูกขาดตลาดการโฆษณาพ่วงผลการค้นหา ด้วยการร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่อื่น ๆ เช่น แอปเปิล เพื่อทำให้ระบบค้นหาข้อมูลของกูเกิลเป็นระบบหลักในเว็บเบราเซอร์และโทรศัพท์มือถือต่าง ๆ

ทางด้านกูเกิลมีคำแถลงในวันพฤหัสบดีว่า ข้อกล่าวหานั้นไม่ถูกต้องและกูเกิลพร้อมที่จะต่อสู้ในชั้นศาล พร้อมยืนยันว่าราคาค่าโฆษณาออนไลน์และเทคโนโลยีในการลงโฆษณานั้นลดต่ำลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และกูเกิลคิดค่าเทคโนโลยีโฆษณาดังกล่าวน้อยกว่าค่าเฉลี่ยในตลาดในปัจจุบัน

การฟ้องร้องต่อกูเกิลทั้งสองครั้งถือเป็นหนึ่งในการดำเนินคดีทางกฎหมายที่มีความสำคัญมากที่สุดในวงการเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ในรอบกว่า 20 ปี และเมื่อต้นเดือนนี้ คณะกรรมาธิการการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ หรือ FTC ยังได้ยื่นฟ้องศาลว่า เฟสบุ๊กดำเนินกลยุทธ์ธุรกิจในแบบที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการรายเล็กเช่นเดียวกับกูเกิล ซึ่งหลายฝ่ายคาดกันว่า ในที่สุดเฟสบุ๊กอาจต้องจำยอมขายธุรกิจทำเงินอย่าง อินสตาแกรม (Instagram) และแอปพลิเคชั่น วอตส์แอปป์ (WhatsApp)

นอกจากนี้ FTC กำลังตรวจสอบบริษัทเทคโนโลยีรายอื่น คือ แอปเปิล และแอมะซอน ว่าทำผิดในกรณีเดียวกันหรือไม่