Google สั่งตรวจสอบประเด็นความเท่าเทียมเชื้อชาติในองค์กร หลังถูกกดดันหนัก

FILE PHOTO: A Google sign is shown at one of the company's office complexes in Irvine

ผู้นำด้านบริการเทคโนโลยีชั้นนำของโลก อย่าง Google กำลังถูกกดดันให้ทำการตรวจสอบภายในเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจที่อาจมีการเลือกปฏิบัติและเหยียดเชื้อชาติโดยด่วน หลังผู้บริหารสั่งปลด สมาชิกทีมดูแลงานด้านจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ หรือ Ethical Artificial Intelligence (AI) ที่เป็นผู้หญิงออกไป 2 รายเมื่อไม่นานมานี้

สำนักข่าว บลูมเบิร์ก รายงานว่า Color of Change ซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องความยุติธรรมด้านเชื้อชาติที่ทรงอิทธิพล เรียกร้องให้ Google ยักษ์ใหญ่ด้านบริการค้นหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต ดำเนินการตรวจสอบกรณีความไม่เท่าเทียมกันด้านเชื้อชาติภายในองค์กรของตน โดยระบุในจดหมายที่ส่งตรงถึง ซันดาร์ พิชัย ซีอีโอของบริษัท Alphabet Inc ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Google รวมทั้งผู้บริหารชั้นสูงอีกหลายคน ว่า การตรวจสอบโดยหน่วยงานอิสระและหน่วยงานสาธารณะ จะช่วยให้บริษัทแห่งนี้เข้าใจถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของตนที่เกี่ยวข้องกับประเด็น “ความเท่าเทียมกันทางเชื้อชาติ สิทธิพลเมือง และการต่อต้านการเลือกปฏิบัติ” ได้ดีขึ้น

ทางกลุ่มยังระบุในจดหมายดังกล่าวด้วยว่า “พนักงานผิวสีของ Google ต้องเผชิญกับบรรยากาศการทำงานที่ไม่เป็นมิตร จากพนักงานคนอื่นๆ ที่แสดงอาการเหยียดเชื้อชาติ ขณะที่พนักงานของ Google ที่เป็นชาวผิวสีต้องรับภาระในการให้ความรู้กับเพื่อนร่วมงาน หรือแม้กระทั่ง ถูกตอบโต้จากการที่ออกมาเตือนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ คุณลักษณะของบริการ หรือนโยบาย ที่เลือกปฏิบัติ”

รายงานข่าวระบุว่า การตรวจสอบปัญหาความเท่าเทียมกันทางเชื้อชาตินั้นมักเป็นหน้าที่ของหน่วยงานบุคคลที่ 3 ที่จะทำการวิเคราะห์รูปแบบการทำธุรกิจของบริษัทนั้นๆ โดยพิจารณาตั้งแต่เรื่องของนโยบาย ไปจนถึงผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อหาข้อสรุปว่า ปัจจัยเหล่านี้ก่อให้เกิด หรือตอกย้ำ หรือทำให้ปัญหาการเลือกปฏิบัติในองค์กรนั้นฝังรากลึกยิ่งกว่าเดิมหรือไม่

ก่อนหน้านี้ กลุ่ม Color of Change เคยกดดันให้บริษัทเทคโนโลยีหลายแห่งต้องดำเนินการตรวจสอบภายในดังว่าไปแล้ว โดยในปีที่แล้ว ทางกลุ่มได้ดำเนินแผนรณรงค์การคว่ำบาตรการลงโฆษณากับบริษัท Facebook เนื่องจากการเผยแพร่ข้อมูลที่แสดงการเลือกปฏิบัติ และในเวลานี้ กลุ่มเคลื่อนไหวนี้กำลังเดินหน้าวิพากษ์วิจารณ์ YouTube ว่าให้การอุปถัมภ์บรรดา Influencer (อินฟลูเอนเซอร์) หรือ ผู้มีอิทธิพลบนสื่อสังคมออนไลน์ ให้ทำการเผยแพร่ข้อมูลแนวชาตินิยมผิวขาว และแนวคิดสุดโต่งอื่นๆ บนแพลตฟอร์มของตน

การออกมาวิจารณ์ YouTube นี้ กลายมาเป็นการเพิ่มแรงกดดัน บริษัท Alphabet ให้หันมาทบทวนวิธีการดูแลคำร้องเรียนที่กล่าวหาว่ามีการล่วงละเมิดสิทธิ์ต่างๆ และปัญหาความอยุติธรรมทางเชื้อชาติ ภายในองค์กร ซึ่งรวมถึง งานวิจัยด้านอคติของปัญญาประดิษฐ์ที่มีความสำคัญอย่างมากของบริษัท และประเด็นการเผยแพร่วิดีโอคลิปที่มีเนื้อหาแสดงความเกลียดชังผ่านช่องทาง YouTube แล้ว

FILE -Google CEO Sundar Pichai speaks during the keynote address of the Google I/O conference in Mountain View, Calif., May 7, 2019.

ที่ผ่านมา Color of Change เข้าร่วมประชุมกับตัวแทนบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อหารือประเด็นความยุติธรรมทางเชื้อชาติ และยังได้พยายามขอเข้าพบ ซีอีโอของ Alphabet แต่ถูกปฏิเสธมาโดยตลอด ตามคำกล่าวของ ราชัฏ โรบินสัน ประธานกลุ่มเคลื่อนไหวนี้

ขณะเดียวกัน โฮเซ่ คาสตานเญดา โฆษกของ Google ออกแถลงการณ์ที่ยืนยันว่า ทางบริษัทให้ความสำคัญต่อประเด็น ความหลากหลาย การเปิดช่องให้ทุกกลุ่มมีส่วนร่วม และความเท่าเทียมกัน รวมทั้ง สิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองขั้นพื้นฐาน ในการดำเนินธุรกิจของตนมาโดยตลอด

บลูมเบิร์ก รายงานว่า ขณะที่ Google ประกาศว่า บริษัทได้สร้างตำแหน่งงานเพื่อให้การสนับสนุนพนักงานที่ถูกจัดว่าเป็นชนกลุ่มน้อยและให้คำแนะนำแนวทางอาชีพ รวมทั้งดำเนินมาตรการตรวจสอบต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่ากระบวนการประเมินผลงานของพนักงานทุกคนจะเป็นไปอย่างยุติธรรมและเท่าเทียมกัน บริษัทกลับมีปัญหาเกี่ยวกับทีมงานด้านจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ของตน โดยทีมงานดังกล่าวต้องสลายตัวลงเมื่อเดือนธันวาคมของปีที่แล้ว หลัง ทิมนิต เกบรู พนักงานด้านวิจัยคนสำคัญซึ่งเป็นชาวผิวสี และ มาร์กาเร็ต มิตเชลล์ ซึ่งเพื่อนร่วมงานนำทีมวิจัย ยุติการทำงานกับบริษัท เนื่องจากผู้บริหารไม่เห็นด้วยกับรายงานชิ้นหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์

เกบรู ซึ่งมีชื่อเสียงจากผลงานการศึกษาปี 2018 ที่ชี้ว่า ระบบการจดจำใบหน้า (Facial Recognition) บางระบบมีประสิทธิภาพต่ำ เมื่อต้องแยกแยะคนที่มีสีผิวเข้ม และ มิตเชลล์ กล่าวหลังออกมาจาก Google ว่า บริษัทแห่งนี้มีปัญหาด้านวัฒนธรรมที่เหยียดเพศและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ทั้งคู่ถูกกันไม่ให้เข้าร่วมงานด้านจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์