โดยทั่วไป “การสนทนา” คือการพูดกับใครสักคนหนึ่ง แต่ผู้เขียนบทความในหนังสือพิมพ์ Wall Street Journal ที่นำมารายงานนี้ ย้อนหลังกลับไปถึงยุคสมัยของ William Shakespeare กวีและนักเขียนบทละครผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของโลกตะวันตก ที่ตีความหมายของ “การสนทนา” ไว้ว่าคือการพูดและเพศสัมพันธ์
มนุษย์ใช้ภาษาเป็นสื่อในหลายด้าน รวมทั้งการเล่าเรื่องให้คนอื่นฟัง หรือโน้มน้าวให้คนอื่นเห็นด้วยกับตน และสร้างความผูกพันระหว่างกัน
งานวิจัยที่เพิ่งเผยแพร่ออกมาบอกว่า “การสนทนา” ยังอาจเป็นคุณลักษณะที่ดึงดูดเพศตรงข้ามได้ด้วย
ผลสรุปของงานวิจัย ซึ่งมาจากการทดลองกับอาสาสมัครทั้งหญิงและชายสามกลุ่มใหญ่ แสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงสนใจผู้ชายที่เล่าเรื่องเก่ง และยังอาจเห็นว่าจะเป็นคู่ครองที่ดีได้ด้วย
รศ. Melanie Green ผู้ร่วมงานวิจัยคนหนึ่งที่มหาวิทยาลัยเมืองบัฟฟาโล่ รัฐนิวยอร์ค บอกว่า การเล่าเรื่องเชื่อมโยงกับความสามารถในการหาเลี้ยงครอบครัว
นักจิตวิทยาหลายรายเห็นด้วย และเสริมว่าการเล่าเรื่อง แสดงว่าผู้เล่าเรื่องซึ่งเป็นผู้ชาย รู้จักวิธีเข้าถึงคน มีความรู้สึกร่วม และยังอาจแสดงส่วนที่อ่อนโยนของตนออกมาให้เห็นด้วย
ในขณะที่อาจารย์ Kari Winter นักประวัติศาสตร์และนักวิจารณ์วรรณกรรมที่มหาวิทยาลัยแห่งเดียวกันนี้ บอกว่า การเล่าเรื่องระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายในตอนรู้จักกันใหม่ๆ เป็นการสื่อสารอย่างลึกซึ้ง โดยผู้เล่ามีความพอใจที่มีผู้ฟัง และผู้ฟังก็พอใจที่จะรับฟัง เพราะทำให้รู้จักผู้เล่าดีขึ้น
แต่ต้องย้ำว่าผลของการทะลองระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้เล่าเรื่องคือผู้ชาย และผู้ฟังคือผู้หญิง เพราะในระหว่างการทดลอง ผู้ร่วมการทดลองทั้งชายและหญิงได้ดูรูปของเพศตรงข้ามและได้รับข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลในภาพด้วย
ในขณะที่ผู้หญิงสนใจผู้ชายที่มีความสามารถในการเล่าเรื่อง ผู้ชายไม่สนใจเลยว่า ผู้หญิงจะเป็นนักเล่าเรื่องที่น่าสนใจหรือไม่
นักจิตวิทยาให้ความเห็นเกี่ยวกับผลวิจัยครั้งนี้ไว้ด้วยว่า “การสนทนา” หรือการเล่าเรื่อง เป็นเครื่องมือช่วยให้ชีวิตคู่ยั่งยืนได้ด้วย เพราะการเล่าเรื่องช่วยให้ทั้งสองฝ่ายคงความสนใจซึ่งกันและกันแม้จะอยู่ด้วยกันมาเป็นเวลานานแล้วก็ตาม
และ Anna Osborn นักบำบัดปัญหาชีวิตสมรส ยืนยันว่าการเล่าเรื่อง ช่วยรักษาและทนุถนอมความผูกพันระหว่างกันได้อย่างแน่นอน