Your browser doesn’t support HTML5
ผลการวัดความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับปี พ.ศ. 2556 จัดให้ประชาชนชาวปานามาอยู่ในอันดับที่หนึ่ง เพราะพบว่า 61% ของชาวปานามามีความเป็นอยู่ที่ดีตามมาตรวัดสามมาตรวัดในจำนวนทั้งหมดห้ามาตรวัด
ที่สองคือ Costa Rica ซึ่งตามมาห่างๆ ด้วยคะแนน 44% และหกประเทศในสิบอันดับแรกเป็นประเทศในแถบลาติน อเมริกา
ดัชนีความเป็นอยู่ที่ดี หรือ well-being index นี้จัดทำโดย Gallup-Healthways โดยเป็นผลของการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์หรือการพบตัวผู้ตอบแบบสอบถามราวๆ 133,000 คนตามประเทศต่างๆ 135 ประเทศด้วยกัน
การสำรวจที่ว่านี้วัดความเป็นอยู่ของผู้คนในห้าลักษณะของชีวิตความเป็นอยู่ กล่าวคือ ความรู้สึกว่าชีวิตมีความมุ่งหมาย เครือข่ายเชื่อมโยงทางสังคม ชุมชนของตน สภาพการณ์ทางการเงิน และสุขภาพของร่างกาย
Dan Witters นักวิจัยของ Gallup บอกว่า ไม่ประหลาดใจที่ชาวปานามาติดอันดับที่หนึ่ง เพราะเป็นคนมองโลกในแง่ดีมากกว่าใครๆ
สำหรับประเทศในเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น มาเลย์เซียติดอยู่ในอันดับที่ 36 ฟิลิปปินส์ที่ 40 ประเทศไทยติดอันดับที่ 44 เวียตนามที่ 54 พม่าที่ 65 อินโดนีเซียที่ 68 และกัมพูชาที่ 93
ในขณะที่ อินเดียติดอยู่ในอันดับที่ 71 เกาหลีใต้ที่ 75 และจีนที่ 90 แม้จะได้คะแนนดีกว่าหลายประเทศเพื่อนบ้านในมาตรวัดเรื่องการเงิน
สองประเทศที่รั้งท้าย คือแอฟกานิสถานที่ 134 และซีเรียที่ 135 โดยได้คะแนน 1% เท่ากัน ส่วนสหรัฐติดอันดับที่ 12 ด้วยคะแนน 33%
Peter Choueiri ผู้จัดการใหญ่ของ Healthways International บอกว่า ในบางประเทศ ผลของการสำรวจแสดงให้เห็นความขัดแย้งระหว่างความคิดเห็นกับความเป็นจริง ยกตัวอย่างเช่น ชาว Saudi Arabia และชาวเมกซิกัน ได้คะแนนสูง ติดอยู่ในสิบอันดับแรกในมาตรวัดสุขภาพของร่างกาย ในขณะที่ประเทศทั้งสองมีประชาชนที่มีน้ำหนักสูงเกินควรในอัตราสูงมาก
เจ้าหน้าที่ของ Healthways International ผู้นี้บอกว่า ความขัดแย้งในลักษณะนี้ สามารถช่วยให้รัฐบาล นายจ้างและบริษัทประกัน กำหนดมาตรการแก้ไขที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมของสังคมนั้นๆ เพื่อช่วยให้ประชาชนของตนมีความเป็นอยู่ที่ดีมากขึ้นได้จริง