ภาวะโลกร้อนมีผลกระทบต่อแผ่นน้ำแข็งบนโลก

Your browser doesn’t support HTML5

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า 95% ของปัญหาภาวะโลกร้อนเิกิดจากน้ำมือมนุษย์

รายงานชิ้นใหม่จากธนาคารโลกได้เรียกร้องให้ทุกประเทศเริ่มลดแก๊สชนิดต่างๆที่เป็นมลพิษทางอากาศที่คงอยู่ในชั้นบรรยากาศเพียงระยะเวลาสั้น เพื่อช่วยชะลอการเกิดภาวะโลกร้อนและช่วยรักษาชีวิตคนจำนวนมากเอาไว้

พายุใต้ฝุ่นที่สร้างความเสียหายอย่างหนักแก่ฟิลิปปินส์เมื่อเร็วๆ นี้ เป็นสัญญาณเตือนให้เรารู้ว่าภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องจริง

คุณเรเชล ไคท์ รองประธานฝ่ายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งธนาคารโลกกล่าวว่าพายุใต้ฝุ่นแบบนี้คงจะไม่เกิดขึ้นเพียงเเค่หนเดียว วิทยาศาสตร์ด้านภาวะอากาศโลกและหลักฐานอื่นๆ ชี้ว่าพายุจะเพิ่มความรุนแรงและจะเกิดบ่อยมากขึ้นอันเป็นผลจากปรากฏการณ์ภาวะโลกร้อน จำเป็นอย่างมากที่หลายๆ ประเทศต้องเตรียมตัวรับมือกับภัยธรรมชาติ

ฝ่ายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งธนาคารโลกได้ออกรายงาน On Thin Ice ที่ศึกษาภูมิภาคต่างๆ บนโลกที่ปกคลุมไปด้วยน้ำเเข็ง อาทิ ขั้วโลกเหนือ ขั้วโลกใต้ เทือกเขาแอนดีสและเทือกเขาหิมาลััย

ในพื้นที่ที่ปกคลุมด้วยน้ำเเข็งเหล่านี้ อุณหภูมิได้เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าสองเท่าตัวเมื่อเทียบกับอัตราการเพิ่มของอุณหภูมิทั่วโลก ภูเขาน้ำเเข็งและแผ่นน้ำเเข็งกำลังละลาย ชั้นดินที่เย็นเยือกจนเเข็งตัวก็เริ่มละลาย

คุณไคท์กล่าวว่าเราเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงที่จะนำไปสู่ความหายนะนี้เเล้วในพื้นที่ที่ปกคลุมด้วยน้ำเเข็งทั้งหมดเหล่านี้ หากน้ำเเข็งในเทือกเขาหิมาลัยละลายหายไป จะมีผู้คนหลายพันล้านคนได้รับผลกระทบเพราะพึ่งพาน้ำเเข็งบนเทือกเขาเป็นแหล่งทรัพยากรน้ำหลัก คุณไคท์คิดว่าจำเป็นมากที่คนเราควรหันมาให้ความสำคัญแก่การลดฝุ่นคาร์บอนกับแก๊สมีเทนที่เราปล่อยออกไปในชั้นบรรยากาศ

ในขณะที่เราเน้นการลดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่คงอยู่ในชั้นบรรยากาศได้นานนับพันปี ธนาคารโลกได้เรียกร้องให้มีการลดตัวสร้างมลภาวะที่มีอายุสั้น แก๊สมีเทนจากปศุสัตว์และจากการทำเหมือง และจากหลุมฝังกลบขยะ จะหายไปจากชั้นบรรยากาศภายในสิบปี ส่วนคาร์บอนดำจากควันไฟจากไม้ฟืนจะคงอยู่ในชั้นบรรยากาศเพียงไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น คุณไคท์กล่าวว่าตัวสร้างมลพิษที่อายุสั้นเหล่านี้ช่วยเพิ่มความเร็วของอัตราการอุ่นตัวขึ้นของอุณหภูมิโลกและเรียกร้องให้เร่งลดปริมาณแก๊สเรือนกระจกอายุสั้นนี้อย่างเร่งด่วนเพื่อลดความรุนแรงของปัญหาภาวะโลกร้อน

คุณเรเชล ไคท์แห่งธนาคารโลกกล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่ามีคนเสียชีวิตหกล้านคนต่อปีจากมลภาวะทั้งภายในและภายนอกอาคาร หากเราเปลี่ยนวิธีการหุงต้มอาหาร กำจัดควันเสียที่มาจากรถยนต์คันเก่าและจากรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซล เธอเชื่อว่าจะสามารถช่วยรักษาชีวิตคนเอาไว้ได้ปีละหกล้านชีวิตและยังจะช่วยลดอัตราการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลก

มาตรการลดเเก๊สเรือนกระจกอายุสั้นซึ่งรวมถึงการลดการเผาหญ้าในไร่นา การเผาป่าและการดักจับแก๊สมากหลุมฝังกลบ จะช่วยยื้อเวลาให้ประเทศต่างๆได้มีโอกาสปรับตัวเพื่อรับมือกับปัญหาภัยธรรมชาติรุนแรง บรรดานักวิทยาศาสตร์ต่างเห็นพ้องกันว่าอุณหภูมิบนโลกจะอุ่นกว่าช่วงยุคก่อนอุตสาหกรรมราวสององศาภายในอีกเจ็ดปีข้างหน้า และจะเกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นและระดับน้ำทะเลสูงขึ้น

คุณไคท์แห่งธนาคารโลกกล่าวปิดท้ายรายงานจากผู้สื่อข่าววีโอเอว่าตนรู้สึกมีกำลังใจมากขึ้นที่เห็นความร่วมมือกันเพิ่มมากขึ้นระหว่างหลายๆ ประเทศรวมทั้งสหรัฐอเมริกา ชาติในขั้วโลกเหนือ และหลายประเทศอุตสาหกรรมใหม่ในอาฟริกา อาทิ กาน่าและไนจีเรีย ในการลดเเก๊สเรือนกระจกที่อายุสั้น