“อาวุธปืน” คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกราวปีละ 250,000 คน

An Iranian woman walks past a mural depicting a gun painted on the wall of the former US embassy in the capital Tehran.

การศึกษาพบว่า มีผู้เสียชีวิตด้วยอาวุธปืนทั่วโลกราวปีละ 250,000 คน และสหรัฐอเมริกาเป็น 1 ใน 6 ประเทศแรกที่มียอดผู้เสียชีวิตรวมกัน เท่ากับครึ่งหนึ่งของยอดผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนทั่วโลก

วารสาร Journal of the American Medical Association ตีพิมพ์ผลการวิเคราะห์ที่มีเนื้อหาครอบคลุมมากที่สุดเกี่ยวกับการเสียชีวิตด้วยอาวุธปืน ซึ่งถือเป็น "ปัญหาด้านสาธารณสุขของมวลมนุษยชาติ" ซึ่งพบว่า แม้สิ่งที่ปรากฏบนพาดหัวข่าวจะดูเหมือนว่ามีการสังหารผู้คนด้วยอาวุธปืนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก แต่ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นนี้สะท้อนถึงสาเหตุและปัจจัยที่หลากหลายมากขึ้น

นักวิจัยเปรียบเทียบจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยอาวุธปืน จาก 195 ประเทศที่ทำการศึกษา ในปี ค.ศ. 1990 ที่มีผู้เสียชีวิตจำนวน 209,000 ราย และปี ค.ศ. 2016 มีผู้เสียชีวิต 251,000 ราย ซึ่งพบว่าสัดส่วนของการเสียชีวิตนั้นแทบไม่เปลี่ยนแปลง ที่อัตราเฉลี่ยราว 4 ต่อ 100,000 คน

ทั้งนี้ เมื่อนำตัวเลขผู้เสียชีวิตของ บราซิล โคลัมเบีย กัวเตมาลา เม็กซิโก เวเนซุเอลา และสหรัฐฯ ซึ่งเป็น 6 ประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากอาวุธปืนมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆของโลก จะพบว่า มีสัดส่วนเท่ากับครึ่งหนึ่งของยอดผู้เสียชีวิตด้วยอาวุธปืนทั่วโลกทีเดียว

ขณะที่ 2 ใน 3 ของการเสียชีวิตในปี ค.ศ. 2016 ล้วนเกิดจากการฆาตกรรม แต่ในสหรัฐฯ หนึ่งในกลุ่มประเทศมั่งคั่ง กลับพบอัตราการเสียชีวิตจากอาวุธปืนที่มาจากการฆ่าตัวตายมากกว่าการฆาตกรรม

คริสโตเฟอร์ เมอร์เรย์ ศาสตราจารย์ด้านสาธารณสุข แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน กล่าวว่า ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นสิ่งที่มากกว่าจำนวนการถือครองอาวุธปืนในประเทศ แต่ยังสะท้อนถึงความเชื่อทางด้านวัฒนธรรมเกี่ยวกับปืน และการฆ่าตัวตายที่แตกต่างกันไปทั่วโลก ที่ทำให้ทราบถึงขอบเขตของการเสียชีวิตด้วยอาวุธปืนที่แตกต่างกันไป

ในการศึกษาครั้งนี้ ยังพบว่า อัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมากในทุกประเทศที่ทำการเก็บข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ บางประเทศมีอัตราการเสียชีวิตเกือบ 40 ต่อ 100,000 คน ซึ่งนักวิจัย กล่าวว่า การค้ายาเสพติดและปัญหาทางเศรษฐกิจอาจเป็นสาเหตุของเรื่องนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับการขาดการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสาเหตุของการใช้อาวุธปืนในการก่อความรุนแรง ตลอดจนวิธีการป้องกันปัญหาดังกล่าวด้วย