บริษัทข้ามชาติกดดันให้บริษัทน้ำมันปาล์มและกระดาษอินโดนีเซียปกป้องสิ่งแวดล้อม

  • Angela Dewan
    ทรงพจน์ สุภาผล

บริษัทข้ามชาติกดดันให้บริษัทน้ำมันปาล์มและกระดาษอินโดนีเซียปกป้องสิ่งแวดล้อม

บริษัทข้ามชาติหลายบริษัทระงับการซื้อวัตถุดิบประเภทน้ำมันปาล์มและกระดาษจากบริษัท Sinar Mas หนึ่งในบริษัทใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซีย สืบเนื่องจากข้อกล่าวหาว่า Sinar Mas ลักลอบตัดไม้และปลูกปาล์มในเขตป่าพรุ โดยขณะนี้กลุ่ม Greenpeace พยายามรณรงค์ให้เกิดการผลิตน้ำมันปาล์มและกระดาษอย่างไม่ทำลายธรรมชาติในอินโดนีเซีย

บริษัทอาหาร Nestle ร้าน Burger King และบริษัทสินค้าผู้บริโภค Unilever คือส่วนหนึ่งของบริษัทข้ามชาติที่ลดหรือระงับการซื้อน้ำมันปาล์มและกระดาษจากบริษัท Sinar Mas ในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก โดยร้านอาหาร Burger King ประกาศระงับการทำธุรกิจกับ SMART บริษัทเครือข่ายของ Sinar Mas หลังจากที่มีการตรวจพบว่า Sinar Mas ละเมิดกฎหมายอินโดนีเซียด้วยการลักลอบตัดไม้และทำการเกษตรในเขตป่าพรุซึ่งอุดมไปด้วยธาตุคาร์บอน

ปัจจุบัน ผู้บริโภคทั่วโลกหันมาใส่ใจต่อโครงการรณรงค์ปกป้องป่าไม้ในอินโดนีเซียของกลุ่ม Greenpeace มากขึ้น โดยกลุ่ม Greenpeace ระบุว่ามีการทำลายป่าไม้และป่าพรุจำนวนมากในอินโดนีเซียเพื่อนำไม้ไปผลิตกระดาษ หรือเพื่อถางพื้นที่สำหรับปลูกต้นปาล์มน้ำมัน คุณ Bustar Maitar แห่งกลุ่ม Greenpeace เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวว่า ผู้ตรวจสอบพบว่าบริษัท Sinar Mas กำลังทำลายป่าเขตฝน ทำลายถิ่นที่อยู่ของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์หลายชนิด และยังทำลายป่าพรุซึ่งเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนที่สำคัญเพื่อไม่ให้ออกสู่ชั้นบรรยากาศโลก

ทางด้านบริษัท Sinar Mas ซึ่งตอนแรกออกมาปฏิเสธเรื่องนี้ ล่าสุดยอมรับว่ามีการปลูกต้นปาล์มในเขตป่าพรุจริง แต่พื้นที่ที่ใช้นั้นน้อยกว่าที่ทาง Greenpeace กล่าวหาอยู่มาก คุณ Daud Dharsono ประธานกรรมการบริษัท SMART ระบุว่ามีการใช้พื้นที่ป่าพรุเพียง 1.8% ในการทำการเกษตร และได้มีความพยายามฟื้นฟูพื้นที่ป่าดังกล่าวแล้ว

น้ำมันปาล์มคือส่วนผสมในสินค้ามากมายหลายประเภท ตั้งแต่ขนมไปถึงเครื่องสำอางค์และเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยอินโดนีเซียคือประเทศผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดในโลกด้วยกำลังการผลิต 20 ล้านตันเมื่อปีที่แล้ว ในขณะที่กระทรวงสิ่งแวดล้อมอินโดนีเซียระบุว่า รัฐบาลมีแผนปลูกต้นปาล์มเพิ่มอีกหลายสิบล้านไร่ในช่วง 10 ปีข้างหน้า ซึ่งนักอนุรักษ์เกรงว่าแผนดังกล่าวอาจเป็นตัวการทำลายป่าไม้และป่าพรุจำนวนมากในอินโดนีเซีย

บรรดานักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมชี้ว่า ระบบการควบคุมตรวจสอบและการออกใบรับรองให้แก่ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มในอินโดนีเซีย ยังคงล่าช้าและไร้ประสิทธิภาพ โดยมีบริษัทผู้ปลูกปาล์มเพียง 12 แห่งเท่านั้นจากหลายพันบริษัทที่มีใบรับรองเป็นมาตรฐานเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ตามในขณะที่ยังไม่มีกระบวนการออกใบรับรองที่ดีกว่าเดิม สิ่งที่บริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆพอจะทำได้คือการแสดงให้เห็นถึงพันธะที่มีต่อสิ่งแวดล้อม เช่นการที่บริษัทจัดการด้านธุรกิจ SAP เสนอซอฟท์แวร์คอมพิวเตอร์ใหม่ที่ช่วยให้บริษัทต่างๆวัดผลการปฏิบัติตามกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมด้วยตนเอง SAP ระบุว่าซอฟท์แวร์ดังกล่าวคือส่วนหนึ่งของความพยายามเพื่อแสดงให้เห็นว่า แต่ละบริษัทนั้นห่วงใยถึงประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมแค่ไหนอย่างไร