Your browser doesn’t support HTML5
การผ่าตัดหน้าท้องเพื่อคลอดบุตรเพิ่มมากขึ้นเกือบสองเท่าตัวในระดับทั่วโลกในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยบรรดาแพทย์เรียกว่าเข้าขั้นที่จัดได้ว่าเป็นการแพร่ระบาดในบางประเทศ เเสดงให้เห็นช่องว่างที่ใหญ่มากของการดูแลด้านการคลอดบุตรของมารดาที่ร่ำรวยกับมารดาที่ยากจน
แพทย์ชี้ว่ามีผู้หญิงหลายล้านคนต่อปีที่อาจทำให้ตนเองเเละลูกเสี่ยงโดยไม่จำเป็นด้วยการเข้ารับการผ่าตัดคลอดลูก ทั้งๆ ที่ไม่มีเหตุผลทางการแพทย์มารองรับแต่อย่างใด
รายงานที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet ชี้ว่า ในปี ค.ศ. 2015 ซึ่งเป็นปีล่าสุดที่มีข้อมูลที่สมบูรณ์เกี่ยวกับการผ่าตัดคลอดลูก แพทย์ได้ผ่าตัดหน้าท้องแก่มารดาถึง 29 ล้าน 7 เเสนคนทั่วโลก โดยถือเป็นร้อยละ 21 ของการเกิดทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 16 ล้านในปี ค.ศ. 2000 ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 12 ของจำนวนการเกิดทั้งหมดในตอนนั้น
โดยคาดว่าการทำคลอดด้วยการผ่าตัดเพราะเกิดความผิดปกติระหว่างการคลอดธรรมชาติ มีความจำเป็นจริงๆ เพียงเเค่ 10-15 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
แต่การวิจัยนี้พบว่า อัตราการใช้การผ่าตัดเพื่อทำคลอดแตกต่างกันไปตามสถานะทางเศรษฐกิจของผู้หญิง โดยในอย่างน้อย 15 ชาติ พบว่าการคลอดลูกมากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ใช้การผ่าตัดหน้าท้อง และมารดาเป็นผู้หญิงที่มีฐานะทางการเงินดี และใช้บริการในโรงพยาบาลเอกชน
ในบราซิล อียิปต์ เเละตรุกี มากกว่ากึ่งหนึ่งของการคลอดใช้วิธีผ่าตัดหน้าท้อง ส่วนที่สาธารณรัฐโดมินิกัน มีอัตราการทำคลอดด้วยการผ่าตัดหน้าท้องสูงที่สุดในโลก โดยร้อยละ 58.1 ของทารกทั้งหมดคลอดด้วยการผ่าตัด
แต่ในเกือบ 1 ใน 4 ของประเทศในการสำรวจทั้งหมด มีการใช้วิธีผ่าตัดคลอดลูกต่ำกว่าระดับเฉลี่ยอย่างมาก
Ties Boerma ศาสตราจารย์ด้านสาธารณสุขที่มหาวิทยาลัย Manitoba ใน Winnipeg เเละหัวหน้าผู้ร่างผลการศึกษานี้ กล่าวว่า ทีมงานไม่คาดว่าจะพบความเเตกต่างเกี่ยวกับวิธีการคลอดลูกในประเทศต่างๆ ระหว่างผู้หญิงที่ต่างกันด้านสถานภาพทางการเงิน และระหว่างจังหวัดหรือรัฐในประเทศเดียวกัน
เจน แซนดาลล์ (Jane Sandall) ศาสตราจารย์ด้านสังคมศาสตร์เเละสุขภาพผู้หญิง ที่มหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจ ลอนดอน กล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า มีเหตุผลหลายอย่างที่ทำให้ผู้หญิงเลือกการผ่าตัดหน้าท้องทำคลอด ซึ่งรวมทั้งการขาดแคลนบริการด้านการผดุงครรภ์ที่ช่วยป้องกันเเละตรวจหาปัญหาการตั้งครรภ์ การขาดแคลนความสามารถทางการแพทย์ในการทำคลอดธรรมชาติได้อย่างมั่นใจเเละมีประสิทธิภาพ ตลอดจนประเด็นที่เกี่ยวกับกฏหมาย
ศาสตราจารย์แซนดาลล์ยังกล่าวด้วยว่า ยังมีประเด็นผลประโยชน์ด้านการเงินเกี่ยวข้องด้วย ทั้งแก่ตัวแพทย์และโรงพยาบาลจากการผ่าตัดคลอด
การศึกษานี้ยังระบุด้วยว่า มีช่องว่างในเรื่องบริการคลอดลูกระหว่างพื้นที่ยากจนกับพื้นที่ร่ำรวยภายในประเทศเดียวกัน
ในจีน อัตราการผ่าตัดคลอดลูกเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 4 เปอร์เซ็นต์เป็น 62 เปอร์เซ็นต์ และในอินเดียระดับการเพิ่มขึ้นอยู่ที่จาก 7 เป็น 49 เปอร์เซ็นต์
ในขณะที่สหรัฐฯ มีการคลอดบุตรด้วยการผ่าตัดคลอดมากกว่า 1 ใน 4 ของการคลอดลูกทั้งหมด รัฐบางรัฐใช้การผ่าตัดคลอดลูกมากกว่ารัฐอื่นเกือบสองเท่าตัว
แม้โรงพยาบาลหลายแห่งอาจทำการตลาดด้วยการชี้ชวนลูกค้าว่า การทำคลอดด้วยการผ่าตัดเป็นวิธีคลอดลูกที่ง่าย เเต่การผ่าตัดคลอดลูกก็มีความเสี่ยง
การเสียชีวิตและความพิการจากการผ่าตัดคลอดลูกสูงกว่าการคลอดลูกธรรมชาติ ศาสตราจารย์แซนดัลล์ กล่าวว่า การผ่าตัดคลอดลูกเป็นการผ่าตัดใหญ่ที่มาพร้อมกับความเสี่ยงหลายอย่าง เเละจำเป็นต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจ
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)