เมื่อวันอังคาร พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ‘นีโม’ ของเนเธอร์แลนด์เผยโฉมลูกชิ้นยักษ์จากเนื้อที่เพาะเลี้ยงจากดีเอ็นเอช้างแมมมอธขนยาวที่สูญพันธุ์ไปแล้ว
ลูกชิ้นยักษ์นี้ผลิตโดยบริษัท ‘วาว’ (Vow) บริษัทเพาะเลี้ยงเนื้อสัตว์ของออสเตรเลีย โดยทางบริษัทต้องการให้ผู้คนหันมาสนใจเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงที่เป็นทางเลือกที่ยั่งยืนกว่าเนื้อสัตว์ที่แท้จริงมากขึ้น
ทิม โนคสมิธ ผู้ก่อตั้งบริษัท กล่าวกับรอยเตอร์ว่า บริษัทของเขาต้องการผลิตสิ่งแปลกใหม่ และเหตุผลที่เลือกใช้ดีเอ็นเอของช้างแมมมอธ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า สัตว์ดึกดำบรรพ์นี้สูญพันธุ์เพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
บริษัทวาวผลิตลูกชิ้นยักษ์นี้จากเซลล์ของแกะที่ใส่หน่วยพันธุกรรม “ไมโอโกลบิน” ของช้างแมมมอธหนึ่งหน่วย
เจมส์ ไรอัล ประธานเจ้าหน้าที่ด้านวิทยาศาสตร์ของวาว อธิบายว่า ไมโอโกลบินเป็นยีนที่ทำให้เกิดกลิ่น สี และรสชาติของเนื้อ
ทั้งนี้ เนื่องจากลำดับดีเอ็นเอของช้างแมมมอธที่บริษัทวาวได้รับมีช่องว่างในดีเอ็นเออยู่ ทางบริษัทจึงแทรกดีเอ็นเอของช้างแอฟริกันในหน่วยพันธุกรรมนั้นเพื่อให้ลำดับดีเอ็นเอครบถ้วน ซึ่งเป็นวิธีที่ไรอัลกล่าวว่า คล้ายกับวิธีในภาพยนตร์เรื่องจูราสสิค พาร์ค ต่างกันตรงที่บริษัทวาวไม่ได้สร้างสัตว์ขึ้นมาจริง ๆ
ขณะที่การเพาะเลี้ยงเนื้อสัตว์มักต้องใช้เลือดจากลูกสัตว์ที่ตายไปแล้ว แต่วิธีการผลิตเนื้อสัตว์ของวาวนั้นแตกต่างออกไป ทำให้ไม่ต้องมีการฆ่าสัตว์เพื่อผลิตลูกชิ้น (meatball) ช้างแมมมอธนี้
โนคสมิธ ผู้ก่อตั้งบริษัทวาว กล่าวว่า ลูกชิ้นยักษ์ที่มีกลิ่นเหมือนเนื้อจระเข้นี้ ไม่ได้มีไว้เพื่อบริโภค เนื่องจากโปรตีนที่ใช้ผลิตนี้มีอายุถึง 4,000 ปี และจะต้องผ่านการทดสอบอย่างถี่ถ้วนเช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ก่อนที่จะนำไปขายตามท้องตลาดได้
ทางบริษัทยังหวังด้วยว่า จะนำเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงไปตีตลาดในสภาพยุโรปซึ่งยังไม่รับรองเนื้อสัตว์ประเภทนี้ในปัจจุบัน
ที่มา: รอยเตอร์