เยอรมนีเริ่มการสอบสวนกรณีท่อส่งก๊าซในทะเลบอลติกระเบิด

This handout photo taken on September 28, 2022 from an aircraft of the Swedish Coast Guard shows the release of gas emanating from a leak on the Nord Stream 1 gas pipeline, in the Swedish economic zone in the Baltic Sea. (Photo by Handout / SWEDISH COAST GUARD / AFP)

อัยการเยอรมันเริ่มทำการสอบสวนเหตุการณ์ที่เชื่อกันว่าเป็นการก่อวินาศกรรมต่อท่อส่งก๊าซใต้ทะเลบอลติกที่ทำหน้าส่งพลังงานจากรัสเซียมายังเยอรมนีแล้ว ตามรายงานของสำนักข่าวเอพี

เหตุระเบิดใต้ทะเลเมื่อปลายเดือนที่แล้วส่งผลให้เกิดรอยรั่วที่ท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีม-วัน (Nord Stream 1) ซึ่งเป็นเส้นทางส่งพลังงานสำคัญให้กับเยอรมนี จนกระทั่งรัฐบาลรัสเซียสั่งปิดการส่งก๊าซไปเมื่อปลายเดือนสิงหาคม แรงระเบิดยังส่งผลกระทบต่อท่อนอร์ดสตรีม-ทู (Nord Stream-2) ซึ่งยังไม่ได้ทำหน้าที่ส่งพลังงานใด ๆ นับตั้งแต่รัฐบาลเยอรมนีสั่งระงับขั้นตอนออกใบรับรองก่อนที่รัสเซียจะส่งกองทัพบุกยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์

ทีมอัยการเยอรมันที่รับหน้าที่สอบสวนคดีด้านความมั่นคงแห่งชาติ เปิดเผยในวันจันทร์ว่า ทางทีมได้เริ่มสอบสวนกลุ่มคนที่ต้องสงสัยว่าจงใจก่อเหตุระเบิดและการก่อวินาศกรรมแล้ว โดยมีหลักฐานเพียงพอที่แสดงให้เห็นว่า ท่อก๊าซทั้งสองได้รับความเสียหายจากการจุดระเบิดโดยจงใจอย่างน้อย 2 ครั้ง และจุดประสงค์ของการสืบสวนนี้คือ ช่วยชี้ตัวผู้กระทำผิดรวมทั้งแรงจูงใจด้วย

การสืบสวนโดยฝ่ายเยอรมนีนั้นเกิดขึ้นตามหลังกระบวนการเดียวกันในสวีเดน หลังอัยการของรัฐบาลสตอกโฮล์มรายหนึ่งเปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า เจ้าหน้าที่สามารถยึดหลักฐานมาจากที่เกิดเหตุได้

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลเดนมาร์กและสวีเดนกล่าวว่า ตนสงสัยว่า น่าจะมีระเบิดจำนวนหลายร้อยปอนด์เข้ามาเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เชื่อว่าเป็นการจงใจก่อวินาศกรรมนี้ โดยสิ่งที่รั่วไหลออกมาจากทั้งท่อนอร์ดสตรีม-วัน และ ทู คือ ก๊าซมีเทนจำนวนมหาศาลที่ลอยขึ้นสู่อากาศ

อัยการรัฐของเยอรมนีเปิดเผยว่า เหตุผลที่ทีมงานเข้ามามีส่วนร่วมกับการสืบสวนนี้นั้นเป็นเพราะว่า การโจมตีเส้นทางการส่งพลังงานนี้อาจกระทบต่อความมั่นคงภายในและภายนอกประเทศของเยอรมนี

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน กล่าวหาชาติตะวันตกว่าเป็นผู้โจมตีท่อส่งก๊าซทั้งสอง ขณะที่ สหรัฐฯ และพันธมิตรต่างออกมาปฏิเสธอย่างแข็งขัน

  • ที่มา: เอพี