ผบ.กองทัพเรือเยอรมนีลาออก หลังให้ความเห็นกรณีปูติน-ไครเมีย

FILE: German Defense Minister Jung, right, and Captain Kay-Achim Schoenbach, second right, wave as the German navy frigate Karlsruhe sails out of the harbor in Djibouti.

ผู้บัญชาการกองทัพเรือเยอรมนี ประกาศลาออกจากตำแหน่งหลังถูกโจมตีจากกรณีที่ให้ความเห็นว่า ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน สมควรจะได้รับความเคารพจากทุกฝ่าย และว่า กรุงเคียฟนั้นไม่น่าจะดึงคาบสมุทรไครเมียที่รัสเซียประกาศผนวกเข้ากับอาณาเขตปกครองของกรุงมอสโกกลับมาเป็นของตนได้อีกแล้ว

พลเรือโท เคย์-อาคิม ชอนบาค ระบุในแถลงการณ์ที่ออกมาเมื่อวันเสาร์ตามเวลาท้องถิ่นว่า ตนได้แจ้งต่อ รัฐมนตรีกลาโหม คริสตีน แลมเบร็คท์ ให้อนุญาตให้ตนพ้นจากตำแหน่งทันที และทางรมต.แลมเบร็คท์ ก็ยอมรับคำขอของตนแล้ว

พลเรือโท ชอนบาค ให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นปธน.ปูตินและอนาคตของคาบสมุทรไครเมียระหว่างการเข้าร่วมเวทีสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่จัดขึ้นที่อินเดียเมื่อวันศุกร์ และคลิปวิดีโอในช่วงดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ไปอย่างกว้างขวางผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ

ทั้งนี้ ความเห็นในทั้งสองกรณีของอดีตผู้บัญชาการกองทัพเรือเยอรมนีนั้นมีออกมา ในช่วงที่ถือว่ามีความอ่อนไหวอยู่มาก ขณะที่ทั่วโลกกำลังจับตาดูความเคลื่อนไหวของรัสเซียที่ส่งกองกำลังของตนจำนวนนับแสนนายเข้าประชิดชายแดนที่ติดกับยูเครน

ก่อนการยื่นใบลาออกของ พลเรือโท ชอนบาค นั้น กระทรวงกลาโหมเยอรมนีได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ความเห็นของอดีตบัญชาการกองทัพเรือรายนี้ไปแล้ว พร้อมชี้ว่า ความเห็นดังกล่าวนั้นไม่ได้สะท้อนภาพจุดยืนของเยอรมนี ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของบริบทหรือการใช้คำพูดก็ตาม แ

ต่อมา พลเรือโท ชอนบาค ก็ได้ออกมากล่าวขอโทษต่อสิ่งที่ตนพูดออกไป และยอมรับว่า ความเห็นของตนก่อให้เกิดความตึงเครียดขึ้นในการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้นำกองทัพเรือ จึงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งเพื่อไม่ให้เกิดปัญหายุ่งยากต่อ “กองกำลังเยอรมนีและสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี” อีกต่อไป

ขณะเดียวกัน กระทรวงการต่างประเทศยูเครนได้ออกมาเรียกร้องให้เยอรมนีปฏิเสธความเห็นของอดีตผู้นำกองทัพเรือของตนอย่างเป็นทางการ และระบุในแถลงการณ์ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นอาจกระทบความพยายามของรัฐบาลตะวันตกทั้งหลายในการลดระดับความตึงเครียดของสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น

นอกจากนั้น ดิมิโทร คูเลบา รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครนยังทวีตข้อความออกมาด้วยว่า “ยูเครนรู้สึกขอบคุณต่อการสนับสนุนของเยอรมนีที่มีให้มานับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2014 รวมทั้งต่อความพยายามด้านการทูตเพื่อแก้ไขความขัดแย้งทางการทหารระหว่างรัสเซียและยูเครน แต่คำแถลงปัจจุบันของเยอรมนีนั้น น่าผิดหวังและกลับขัดต่อแรงสนับสนุนและความพยายามต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น”