หนังสือของฮิตเลอร์ตีพิมพ์ขายครั้งใหม่ในรอบ 70 ปี จุดกระแสไม่พอใจในหมู่ชาวยิว

Mein Kampf

หนังสือ "Mein Kampf" ของฮิตเลอร์ตีพิมพ์รอบใหม่เพื่อขายในเยอรมนีและในอีกหลายประเทศ แต่มีการถกเถียงกันว่าถูกต้องหรือไม่ที่มีการตีพิมพ์หนังสือที่ต่อต้านคนยิวเล่มนี้อีก

Your browser doesn’t support HTML5

หนังสือเรื่องไมน์คัมพฟ์ของฮิตเล่อร์ตีพิมพ์ขายครั้งใหม่ในรอบ 70 ปี

รัฐ Bavaria ในเยอรมนีซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หนังสือของฮิตเลอร์เล่มนี้ตั้งเเต่ปี ค.ศ. 1945 ได้ปฏิเสธไม่ให้มีการตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้มาตลอด เพราะต้องการแสดงความเคารพต่อเหยื่อของกลุ่มนาซี

แต่เมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา ลิขสิทธิ์นี้ได้หมดอายุลงทำให้หนังสือเล่มนี้กลายเป็นสมบัติสาธารณะและมีสำนักพิมพ์หลายเจ้ากำลังเตรียมที่จะตีพิมพ์เพื่อนำออกมาวางขาย

บรรดาชาวยิวหลายๆ กลุ่มชี้ว่า หนังสือเล่มนี้เป็นเครื่องเตือนความทรงจำถึงสิ่งชั่วร้ายที่เกิดขึ้นตามมา

คุณ Charlotte Knobloch แห่งศูนย์เพื่อชุมชนชาวยิวแห่งมิวนิคและบาวาเรียตอนเหนือกล่าวว่า เธอไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าหนังสือของฮิตเลอร์จะตีพิมพ์ออกมาวางขายในร้านหนังสือ และเธอหวังว่าจะมีการห้ามวางขายหนังสือเล่มนี้เพราะถือว่าผิดกฏหมายต่อต้านการกบฏ

อย่างไรก็ตาม หนังสือเล่มนี้ไม่ถูกสั่งห้ามนำออกขายในเยอรมนี และทางการของเยอรมนีก็ไม่สามารถทำอะไรได้ต่อเรื่องนี้

Copies of Adolf Hitler's book "Mein Kampf" (My Struggle) are pictured at the media preview of "Hilter und die Deutsche Volksgemeinschaft und Verbrechen" (Hitler and the German Nation and Crime) at the Deutsche Historisches Museum (German Historical Museum

นาย Heiko Maas รัฐมนตรียุติธรรมเยอรมนีบอกว่า ไม่ง่ายเลยที่จะสั่งห้ามขายหนังสือนี้ด้วยเหตุผลทางลิขสิทธิ์ อย่างไรก็ตาม หากเกิดอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับความเกลียดชังทางเชื้อชาติหรือศาสนา เจ้าหน้าที่อาจสามารถเอาผิดได้ตามกฏหมาย

มีการโต้เเย้งว่าหนังสือที่ยาว 800 ของฮิตเลอร์เล่มนี้ ควรมีการตีความหมายให้ชัดเจน และวิธีที่ดีที่สุดคือการตีพิมพ์ออกมาในรูปของหนังสือที่มีการอธิบายหมายเหตุประกอบอย่างเหมาะสม

คุณ Timo Schnirlein วิศวกรชาวเยอรมันกล่าวว่า ไม่ควรอ่านหนังสือเรื่องไมน์คัมพฟ์ราวกับว่าเป็นหนังสือคำสอนทางศาสนา หนังสือเล่มนี้ควรพิมพ์ออกมาในรูปของเนื้อหาที่ประกอบด้วยข้อเขียนของนักสังคมวิทยาและนักประวัติศาสตร์

แต่หากตีพิมพ์ออกมาในรูปนี้ หนังสือเล่มนี้จะไม่มีอิทธิพลทางลบใดๆ ต่อสาธารณชนอีกต่อไป

หนังสือของฮิตเลอร์เล่มนี้ถูกสั่งห้ามในหลายๆ ประเทศ รวมทั้ง ออสเตรียกับเนเธอร์เเลนด์ และถือว่าเป็นหนังสือต้องห้ามในอิสราเอล ซึ่งมีเฉพาะฉบับย่อของหนังสือเล่มนี้เท่านั้นเพื่อจุดประสงค์ทางการศึกษาแต่บรรดานักวิชาการชาวอิสราเอลหลายคนเชื่อว่าจำเป็นต้องมีหนังสือฉบับสมบูรณ์

คุณ Dan Michman แห่ง YAD VASHEM International Institute For Holocaust Research กล่าวว่าหนังสือเรื่องไมน์คัมพฟ์เป็นหนังสือสำคัญเล่มหนึ่ง เพราะฮิตเล่อร์ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเขียนหนังสือเล่มนี้ จึงเป็นหนังสือที่เเสดงถึงความคิดของเขาจริงๆ

ความคิดในบางส่วนของหนังสือถูกนำไปใช้ปฏิบัติจริงๆ แต่บางส่วนไม่ถูกนำไปใช้ในทางปฏิบัติ เขากล่าวว่าแม้แต่ส่วนที่ไม่ถูกนำไปปฏิบัติก็มีความสำคัญ ในการเข้าใจพื้นฐานชีวิตและสภาพแวดล้อมในวัยเด็กของฮิตเลอร์

คุณ Ayo Oppenheimer ชาวยิวในอิสราเอลกล่าวว่าค่อนข้างเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ในด้านหนึ่งตนเองไม่ตื่นเต้นอะไรที่หนังสือเรื่องไมน์คัมพฟ์ของฮิตเลอร์จะตีพิมพ์ออกมาวางขายทั่วโลก แต่ในอีกด้านหนึ่งเราไม่สามารถควบคุมเสรีภาพในการความคิดเห็นได้ และไม่คิดว่าเราควรควบคุมเสรีภาพด้านนี้

หนังสือเรื่องไมน์คัมพฟ์เสนอเนื้อหาความคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองของฮิตเลอร์ โดยฮิตเลอร์เขียนหนังสือเล่มนี้ในเรือนจำแห่งหนึ่งในรัฐบาวาเรียขณะถูกจองจำข้อหากบฏหลังจากก่อปฏิวัติล้มเหลวในมิวนิค เมืองหลวงของรัฐบาวาเรียในปี ค.ศ 1923

(เรียบเรียงโดย ทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน )