เจรจาสุดยอด 'กลุ่มจี 7' เริ่มศุกร์นี้ ท่ามกลางความขัดแย้งเรื่องการค้ากับสหรัฐฯ

Your browser doesn’t support HTML5

กลุ่มจี 7 จะเริ่มการเจรจาสุดยอดศุกร์นี้ ท่ามกลางความขัดแย้งเรื่องการค้ากับสหรัฐฯ

เมื่อปีที่แล้ว ประเทศผู้นำโลกในกลุ่ม จี 7 จัดการประชุมสุดยอดที่เกาะซิซิลีของอิตาลี ในครั้งนั้นประเด็นความเห็นไม่ลงรอยกันมาจากเรื่องภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงผิดธรรมชาติ

แต่ในปีนี้ซึ่งแคนาดาเป็นเจ้าภาพ หัวข้อหลักที่สร้างความเห็นที่แตกต่าง คือปัญหาการการค้า ท่ามกลางความไม่พอใจสหรัฐฯ ในกลุ่มประเทศยุโรปและแคนาดา หลังจากที่รัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตัดสินใจขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเหล็กกล้าและอลูมิเนียม

แม้จะเห็นว่าการใช้มาตรการภาษีของสหรัฐฯ ไม่เหมาะสม ประเทศคู่กรณีของอเมริกายังคงไม่มีแนวทางที่เหมือนกันอย่างชัดเจน ขณะที่การประชุมสุดยอดจี 7 จะเริ่มขึ้นในวันศุกร์นี้แล้ว

ตัวอย่างเช่น อังกฤษยังคงไม่ร่วมประสานเสียงกับประเทศในยุโรปอื่นๆ ในการขู่ใช้มาตรการตอบโต้สหรัฐฯ สาเหตุประการหนึ่งน่าจะมาจากที่ขณะนี้อังกฤษมีความหวังที่จะทำให้เกิดความตกลงทางการค้ากับอเมริกาเรื่องอื่นๆ ที่อาจช่วยประคับประคองเศรษฐกิจหลังการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี เธเรซา เมย์ ของอังกฤษ ได้กล่าวแสดงความ “ผิดหวังอย่างลึกซึ้ง” และขอให้สหรัฐฯ ยกเว้นการใช้มาตรการภาษีต่อประเทศในยุโรป

แต่เสียงเรียกร้องที่สำคัญ ให้ยุโรปเก็บภาษีตอบโต้สหรัฐฯ มาจากฝรั่งเศส

ประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาคร็อง ของฝรั่งเศส กล่าวว่าการอ้างเหตุผลเรื่องความมั่นคงของชาติมาสนับสนุนการขึ้นภาษีสินค้าเหล็กและอลูมิเนียม เปรียบได้ว่าสหรัฐฯ กำลังท้าทายระบบการค้าโลกที่ต้องอิงระเบียบและกฎเกณฑ์ต่างๆ ภายใต้องค์การการค้าโลกหรือ WTO

สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานข่าวในสัปดาห์ที่แล้วว่า ทรัมป์และมาคร็อง เถียงกันทางโทรศัพท์ และแหล่งข่าวที่ทำเนียบข่าวกล่าวว่า การเจรจาไม่ประสบผลสำเร็จ

ก่อนหน้าที่ทั้งสองจะสนทนาทางโทรศัพท์กัน ทำเนียบประธานาธิบดีฝรั่งเศสออกแถลงการณ์ว่า “สหรัฐฯทำผิดพลาดในหลายจุดเรื่องการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเหล็กกล้าและอลูมิเนียม เพราะอเมริกาพยายามจัดการกับการค้าที่ไม่สมดุลที่เป็นอยู่ด้วยการแบ่งแยกและนโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยม”

ส่วน เยอรมนี หัวเรือใหญ่ของกลุ่มเศรษฐกิจยูโรโซน เป็นประเทศที่ได้ดุลการค้าระดับสูงจากสหรัฐฯ และค่อนข้างสงวนท่าทีในความขัดแย้งนี้ ขณะที่กลุ่มธุรกิจรถยนต์ของเยอรมนีขอให้รัฐบาลใช้ความระมัดระวังกับเรื่องนี้

หากเกิดสงครามการค้าระหว่างสหภาพยุโรปและอเมริกา นักวิเคราะห์คิดว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ของเยอรมนีจะได้รับความเดือดร้อน

ผู้ผลิตรถยนต์ของเยอรมนีหวังว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ จะไม่ขึ้นภาษีร้อยละ 25 ต่อรถยนต์เยอรมัน โดยกล่าวว่าการกระทำเช่นนั้นจะสร้างความยากลำบากให้กับคนงานในสหรัฐฯ ด้วย

การวิเคราะห์ของหน่วยงาน Peterson Institute ชี้ว่า หากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ อาจให้ให้คนงานอเมริกัน 195,000 คน ตกงานในช่วงเวลาสามปีจากนี้

นักวิเคราะห์ Matthew Oxenford จาก Chatham House ที่อังกฤษ กล่าวว่า หากประเทศใหญ่สองประเทศมีความขัดแย้งทางการค้าระหว่างกัน ยุทธศาสตร์การใช้มาตรการตอบโต้อาจเป็นแนวทางที่ถูกพิจารณา และอาจสามารถทำให้ฝ่ายที่เริ่มใช้มาตรการภาษีรู้สึกถึงผลตอบรับที่เจ็บปวด

เขากล่าวว่า หากเป็นประเทศเล็กขัดแย้งกับประเทศใหญ่ ฝ่ายที่เป็นรองอาจหาช่องทางเจรจาและยอมอ่อนข้อเพื่อให้ได้ข้อตกลงที่ดีได้ แม้ว่าจะเป็นความตกลงที่ไม่เท่าเทียมกันก็ตาม ซึ่งตัวอย่างนี้เห็นมาแล้วจากกรณีของเกาหลีใต้ที่ยอมรับโควต้าส่งออกเหล็กไปสหรัฐฯ เพื่อแลกมาด้วยการได้รับการยกเว้นมาตรการภาษีของอเมริกา

(รัตพล อ่อนสนิท เรียบเรียงจากรายงานของ Jamie Dettmer จากกรุงโรม)