ทางการฝรั่งเศสแถลงว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน และประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาคร็อง จะหารือกันในอีกไม่กี่วันข้างหน้าเพื่อหาทางออกเรื่องการเผชิญหน้าทางการทูตของสองประเทศ สืบเนื่องจากสนธิสัญญาความมั่นคงไตรภาคีที่สหรัฐฯ และอังกฤษ จัดทำร่วมกับออสเตรเลีย จนนำไปสู่การยกเลิกสัญญาสร้างเรือดำน้ำระหว่างออสเตรเลียกับฝรั่งเศส
โฆษกรัฐบาลฝรั่งเศส แกเบรียล อัตตาล ระบุว่า ปธน.ไบเดน ได้ขอพูดคุยในประเด็นนี้กับปธน.มาคร็อง ซึ่งเชื่อว่าจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ โดยทางฝรั่งเศสต้องการคำชี้แจงที่ชัดเจนเรื่องข้อตกลงกับออสเตรเลีย รวมทั้งต้องการหารือเรื่องค่าชดเชยสำหรับข้อตกลงที่ถูกยกเลิกนี้
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ฝรั่งเศสแสดงความ "ตกตะลึง" เมื่อออสเตรเลียยกเลิกสัญญามูลค่า 66,000 ล้านดอลลาร์กับบริษัท Naval Group ที่รัฐบาลกรุงปารีสเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เพื่อสร้างเรือดำน้ำพลังงานดีเซลและไฟฟ้าจำนวน 12 ลำ แล้วหันไปลงนามในสนธิสัญญาความร่วมมือกับสหรัฐฯ และอังกฤษแทน เพื่อพัฒนาเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์อย่างน้อย 8 ลำให้กับออสเตรเลีย
SEE ALSO: จีนโต้เดือด! หลังอเมริกา-อังกฤษ ช่วยออสเตรเลียสร้างเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์เมื่อวันศุกร์ ฝรั่งเศสประกาศเรียกทูตของตนในสหรัฐฯ และออสเตรเลีย กลับประเทศเพื่อหารือ หลังออสเตรเลียทำข้อตกลงดังกล่าวกับสหรัฐฯ และอังกฤษ
ต่อมาในวันเสาร์ รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส ฌอง-อีฟส์ เลอ เดรียง กล่าวกับสื่อโทรทัศน์ของฝรั่งเศสว่า การยกเลิกข้อตกลงกับออสเตรเลียถือเป็น "วิกฤติ" ซึ่งเต็มไปด้วยคำโกหก การตีสองหน้า การทำลายความไว้ใจและการสบประมาท ซึ่งสร้างความบาดหมางในหมู่ประเทศพันธมิตร
ทางด้านบริษัทผู้ผลิตเรือดำน้ำ Naval Group กล่าวว่า ลูกจ้าง 500 คนในออสเตรเลีย และ 650 คนในฝรั่งเศส ต่างได้รับผลกระทบจากการยกเลิกข้อตกลงนี้
ทางด้านผู้นำออสเตรเลีย แสดงความผิดหวังต่อการตัดสินใจของฝรั่งเศสที่เรียกตัวทูตฝรั่งเศสประจำกรุงแคนเบอร์รา และกรุงวอชิงตัน กลับประเทศ แต่ก็ยืนยันถึงความจำเป็นในการจัดทำความร่วมมือกับสหรัฐฯ และอังกฤษ
ในวันอาทิตย์ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย สก็อตต์ มอร์ริสัน กล่าวว่า ออสเตรเลียเป็นกังวลว่าเรือดำน้ำพลังงานดีเซลที่สั่งซื้อจากฝรั่งเศสอาจไม่เป็นไปตามความต้องการด้านยุทธศาสตร์ของออสเตรเลีย พร้อมชี้ว่า ความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในแถบอินโด-แปซิฟิก คือสาเหตุที่ทำให้ออสเตรเลียต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ด้านเรือดำน้ำในครั้งนี้
นายกฯ มอร์ริสัน กล่าวในการแถลงข่าวว่า หน่วยงานข่าวกรองและกองทัพออสเตรเลียได้แนะนำมาก่อนหน้านี้แล้วว่า เรือดำน้ำที่ฝรั่งเศสจะสร้างให้นั้นยังไม่มีศักยภาพเพียงพอในการปกป้องผลประโยชน์และอธิปไตยแห่งชาติของออสเตรเลีย ซึ่งหากตนตัดสินใจเดินหน้าตามข้อตกลงดังกล่าวก็จะเป็นการละเลยต่อคำแนะนำนั้น
มอร์ริสัน กล่าวว่า ตนเข้าใจดีถึงความผิดหวังของฝรั่งเศส "แต่ผลประโยชน์ของออสเตรเลียต้องมาก่อน" และนั่นคือการจัดทำความร่วมมือสามฝ่ายกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน และประธานาธิบดีบอริส จอห์นสัน แห่งอังกฤษ ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถยกระดับความมั่นคงในภูมิภาคนี้ได้
ทั้งนี้ สนธิสัญญาความมั่นคงไตรภาคีที่จัดทำขึ้นใหม่ระหว่างสหรัฐฯ อังกฤษ และออสเตรเลีย ใช้ชื่อว่า AUKUS
เมื่อวันพฤหัสบดี ปธน.ไบเดน พร้อมกับนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน และนายกรัฐมนตรีสก็อตต์ มอร์ริสัน เน้นย้ำว่า เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ของออสเตรเลียจะไม่ติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์
โดยนายกฯ มอร์ริสัน กล่าวว่า ออสเตรเลียมิได้พยายามมีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองหรือกำลังพัฒนาศักยภาพทางนิวเคลียร์แต่อย่างใด และจะเดินหน้าตามคำมั่นว่าด้วยการลดการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ทั่วโลกด้วย
ด้านนายกฯ จอห์นสัน กล่าวว่า อังกฤษจะรับบทบาทสำคัญในการแบ่งปันความรู้กับออสเตรเลีย โดยอาศัยความเชี่ยวชาญของอังกฤษจากการมีเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ลำแรกตั้งแต่ 60 ปีก่อน
(ข้อมูลบางส่วนจากสำนักข่าวเอพีและรอยเตอร์)