ฟอสซิลเผย 'ความจิ๋ว' ที่เล็กกว่าเดิมของมนุษย์โบราณในอินโดนีเซีย

ภาพที่เเสดงให้เห็นถึงกระดูกมนุษย์โบราณในอินโดนีเซีย

เมื่อราว 20 ปีก่อน บนเกาะฟลอริสในอินโดนีเซีย นักวิทยาศาสตร์สำรวจฟอสซิลของเผ่าพันธุ์มนุษย์ยุคเเรก ๆ และวัดความสูงของซากที่พบได้ 3 ฟุตครึ่งหรือประมาณ 107 ซม. เท่านั้น นำมาซึ่งชื่อเล่น 'ฮอบบิต' สำหรับมนุษย์โบราณเหล่านี้

แต่การศึกษาชิ้นใหม่ชี้ว่า ความจิ๋วของมนุษย์ที่พิกัดการค้นพบดังกล่าว มีขนาดเล็กยิ่งกว่าเดิม

ยูเซเกะ คาอิฟุ ผู้ร่วมเขียนรายงานการวิจัยชิ้นใหม่ แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียวกล่าวผ่านอีเมลว่า "เราไม่คิดว่าจะพบ (หลักฐานว่ามี) มนุษย์ที่เล็กลง จากสถานที่เดิม"

ฟอสซิลเดิมของ 'ฮอบบิต' ซึ่งนักวิจัยขอยืมชื่อมาจากตัวละครในนิยาย 'ลอร์ด ออฟ เดอะ ริงส์' สะท้อนถึงขนาดของมนุษย์เมื่อ 60,000 ถึง 100,000 ปีในพื้นที่ดังกล่าว

การค้นพบใหม่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่เรียกว่า 'มาตา เมนเก' ห่างจากจุดเดิม 72 กม.

การวิเคราะห์กระดูกจากจากแหล่งค้นพบ 'มาตา เมนเก' ชี้ว่ามนุษย์บริเวณดังกล่าวเตี้ยกว่าที่เคยสำรวจพบ ราว 6 ซม. และหลักฐานเหล่านี้มาอายุประมาณ 700,000 ปี โดยการศึกษาชิ้นนี้ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications วันอังคาร

นักวิทยาศาสตร์เคยถกเถียงเกี่ยวกับวิวัฒนาการของ 'ฮอบบิต' เหล่านี้ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ตามเกาะฟลอเรสว่า Homo floresiensis

เหล่าผู้เชี่ยวชาญสงสัยว่าเหตุใดมนุษย์โบราณจึงวิวัฒนาการจนมีขนาดเล็กเช่นนี้ และเชื่อว่า 'ฮอบบิต' แห่งเกาะฟลอเรส คือ มนุษย์โบราณกลุ่มท้าย ๆ ที่สูญพันธุ์ไป

ขณะนี้ ยังไม่ทราบเเน่ชัดว่า 'ฮอบบิต' เหล่านี้ มีขนาดตัวหดลงจากสายพันธุ์ Homo erectus หรือเป็นเผ่าพันธุ์ที่เก่าแก่กว่านั้น ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องค้นหาต่อไปว่า บรรพบุรุษขนาดเล็กเหล่านี้ดำรงชีวิตอยู่ ณ ช่วงใดของวิวัฒนาการมนุษย์กันแน่

  • ที่มา: เอพี