นักวิทยาศาสตร์เผยว่าพบซากฟอสซิลสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่รูปทรงคล้ายซาลาแมนเดอร์ ที่ครองผืนน้ำโลกดึกดำบรรพ์มาก่อนที่จะมีไดโนเสาร์ตัวแรก ตามการรายงานของเอพี
ผลการศึกษาซากหัวกะโหลกและกระดูกสันหลังของสิ่งมีชีวิตที่ชื่อ ไกอาเซีย เจนนีเอ (Gaiasia jennyae) ถูกเผยแพร่ในวันพุธในวารสาร Nature พบว่ามันมีอายุ 280 ล้านปี ซึ่งเก่าแก่กว่าช่วงเวลาที่จะมีไดโนเสาร์ ซึ่งหมายถึงสัตว์จำพวกเลื้อยคลาน ที่ใช้ชีวิตบนโลกเมื่อราว 240 ล้านปีก่อน
หัวกะโหลกของมันมีความยาวราว 60 ซม. โดยนักวิจัยคาดว่านักล่าตัวนี้มีขนาดใหญ่กว่ามนุษย์ และน่าจะใช้ฟันหน้าบนหัวที่กว้างและแบนเพื่อดูดและเคี้ยวเหยื่อ
ไมเคิล กวาเตส นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยชิคาโกที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานศึกษานี้ กล่าวถึงการใช้ชีวิตของผู้ล่าโบราณนี้ว่า “มันทำตัวเป็นที่เย็บกระดาษที่ดุร้าย”
ก่อนหน้านี้ นักวิจัยต่างตรวจสอบการมีอยู่ของสัตว์นักล่ายุคโบราณกันมาอย่างยาวนาน เพื่อค้นหาที่มาของสัตว์จำพวก ‘เตตระพอด (tetrapods)’ หมายถึงสัตว์บกสี่ขา ที่วิวัฒนาการจากสัตว์มีครีบที่อาศัยอยู่ใต้น้ำ ซึ่งกระบวนการวิวัฒนาการนี้ต่อมาทำให้มีสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ นก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่รวมถึงมนุษย์
ฟอสซิลสัตว์จำพวกเตตระพอดโบราณส่วนมากจะถูกค้นพบในชั้นถ่านหินในพื้นที่เส้นศูนย์สูตร ที่ปัจจุบันคือทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป แต่ไกอาเซีย เจนนีเอ ที่มีอายุถึง 280 ล้านปี ถูกค้นพบในพื้นที่ที่ปัจจุบันคือประเทศนามิเบีย ในทวีปแอฟริกา ซึ่งในสมัยโบราณเคยปกคลุมไปด้วยน้ำแข็ง
นั่นหมายความว่าสัตว์สี่เท้า อาจจะอาศัยอยู่ในพื้นที่หนาวเย็นมานานกว่าที่นักวิทยาศาสตร์เคยคาดการณ์เอาไว้ ซึ่งนำไปสู่คำถามต่อไปว่าสัตว์เหล่านี้ครองโลกทั้งใบได้ตั้งแต่เมื่อไหร่และอย่างไร
เคลาเดีย มาร์ซิกาโน หนึ่งในเจ้าของงานศึกษานี้จากมหาวิทยาลัยบัวโนส ไอเรส กล่าวว่า “เรื่องราวช่วงต้นของสัตว์สี่ขาตัวแรก มีความซับซ้อนมากกว่าที่พวกเราคิด”
สำหรับที่มาของชื่อไกอาเซีย เจนนีเอ มาจากจุดค้นพบในชั้นหินที่ชื่อ ไก-อัส (Gai-As) รวมกับชื่อของนักบรรพชีวินวิทยาที่ศึกษาวิวัฒนาการของสัตว์สี่เท้า เจนนิเฟอร์ แคล็ค
- ข้อมูลเพิ่มเติมจาก American Museum of Natural History