ทีมนักธรณีวิทยาอเมริกันตรวจวัดการเคลื่อนตัวช้าๆ ของเปลือกโลกเพื่อวัดความแรงของแผ่นดินไหวล่วงหน้า

  • Art Chimes
นักธรณีวิทยาอเมริกันและทีมงานได้ค้นพบวิธีการตรวจวัดแรงสั่นสะเทือนของเปลือกโลกแบบใหม่ที่น่าจะช่วยเตือนล่วงหน้าได้ว่าแผ่นดินไหวครั้งต่อไปจะมีความรุนแรงแค่ไหน

Your browser doesn’t support HTML5

Forecasting Earthquake

พื้นโลกประกอบด้วยแผ่นเปลือกโลกที่ต่อเข้าด้วยกันเหมือนแผ่นโมเสส แผ่นเปลือกโลกจะเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลาและเกิดการสั่นสะเทือนเพียงเบาๆ จนคนเราไม่สามารถรู้สึกแรงสะเทือนได้ แต่ในบางครั้งแผ่นเปลือกโลกบริเวณรอยต่อจะเคลื่อนตัวเข้าทับซ้อนกันและนั่นทำให้เกิดแผ่นดินไหวรุนแรง

คุณ Timothy Dixon นักธรณีวิทยาอเมริกันแห่งมหาวิทยาลัย South Florida กล่าวว่าการเคลื่อนตัวทับซ้อนกันของแผ่นเปลือกโลกบริเวณรอยต่อธรณีภาคดังกล่าวเป็นสาเหตุของแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในญี่ปุ่นเมื่อปีคริสตศักราช 2011 และแผ่นดินไหวที่เกาะสุมาตรากับคลื่นทะเลยักษ์สึนามิที่เกิดขึ้นตามมาในปีคริสตศักราช 2004 เขาชี้ว่าแผ่นดินไหวรุนแรงสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อชีวิตและทรัพย์สิน

คุณ Dixon และทีมงานใช้อุปกรณ์ตรวจวัดระบบจีพีเอสที่มีความละเอียดอ่อนสูงในการติดตามเฝ้าดักจับแรงเคลื่อนตัวแบบอ่อนๆ ของเปลือกโลกที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ ซึ่งอุปกรณ์ตรวจจับแรงสะเทือนแบบมาตรฐานไม่สามารถวัดได้

เขาชี้ว่าแรงเคลื่อนตัวของเปลือกโลกที่รอยต่อธรณีภาคแบบอ่อนๆ ช่วยบอกได้ว่าเปลือกโลกในจุดรอยต่อของเปลือกโลกจุดนั้นๆ กำลังคลายพลังงานออกมาเพื่อระบายความเครียดและหากเปลือกโลกปล่อยพลังงานไอความร้อนออกมาเพียงพอก็จะช่วยสร้างความสมดุลใต้เปลือกโลกและจุดรอยต่อนั้นๆ ก็จะไม่เกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรง

ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ติดตั้งเครือข่ายรับสัญญาณระบบจีพีเอสเมื่อ 15 ปีที่แล้วใน Costa Rica เพื่อตรวจวัดการเคลื่อนไหวอย่างช้าๆ ของแผ่นเปลือกโลก ซึ่งจะเกิดขึ้นเพียงปีละหนหรือสองปีหนเท่านั้น ครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นราว 3 เดือนก่อนหน้าเหตุแผ่นดินไหวในปีคริสตศักราช 2012

คนทั่วไปมักอยากรู้ว่าจะเกิดแผ่นดินไหวขึ้นเมื่อไหร่แต่เทคโนโลยีที่ทีมนักวิจัยใช้นี้ไม่สามารถพยากรณ์เรื่องนี้ได้ล่วงหน้า

คุณ Dixon กล่าวว่าแผ่นดินไหวเป็นภัยธรรมชาติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้ว่าจะเกิดแผ่นดินไหวขึ้นเมื่อใดแน่นอนแต่หากสามารถคาดเดาได้ล่วงหน้าถึงความรุนแรงของแผ่นดินไหว เราจะสามารถเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

Timothy Dixon นักธรณีวิทยาอเมริกันชี้ว่าพื้นที่ที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวจุดอื่นๆ จะได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถนำไปใช้ได้เนื่องจากยังมีข้อจำกัดที่ว่าพื้นที่ใช้งานต้องไม่ไกลออกไปในทะเลมากเกินไปเนื่องจากตัวรับสัญญาณจีพีเอสยังต้องพึ่งพาการสื่อสารจากดาวเทียมและไม่สามารถรับสัญญาณดาวเทียมได้หากอยู่ใต้น้ำ