Your browser doesn’t support HTML5
คลินท์ แพร์รี (Clint Parry) ชายวัย 33 ปีชาวเมืองดีทรอยด์ รัฐมิชิแกน เป็นหนึ่งในหลายคนทั่วโลกที่พยายามลดค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารและลดปริมาณของเหลือทิ้งในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด -19
โดยผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า หากพฤติกรรมนี้ยังดำเนินต่อไป อาจสามารถช่วยต่อสู้กับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นทั่วโลกได้
แพร์รี ทำงานเป็นผู้สร้างโมเดลให้กับบริษัทแห่งหนึ่งในมิชิแกน เขาบอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ตัวเขาและภรรยาพยายามใช้ประโยชน์จากอาหารเหลือทั้งหมด ก่อนนี้พวกเขามักจะลืมนำอาหารเหลือเหล่านั้นไปทานเป็นมื้อกลางวันในที่ทำงาน จะได้ไม่ต้องไปซื้ออาหารจานด่วนทาน
องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติประเมินว่า ทุก ๆ ปี หนึ่งในสามของอาหารทั่วโลกถูกทิ้งกลายเป็นขยะอาหาร และขยะอาหารเหล่านั้นทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 8 เปอร์เซ็นต์ของโลก
ทั้งนี้ กระบวนการแผ้วถางป่า การเผาเชื้อเพลิง และการผลิตบรรจุภัณฑ์ ล้วนทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก เมื่อผู้คนทิ้งอาหาร ขยะอาหารเหล่านั้นจะอยู่บนพื้นที่เปิดโล่งและเน่าเสียทำให้ก๊าซเหล่านี้เข้าสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้นอีกด้วย
ทูอีน ทิมเมอร์แมนส์ (Toine Timmermans) ผู้ดูแลโครงการอาหารยั่งยืนที่มหาวิทยาลัย Wageningen University & Research ประเทศเนเธอร์แลนด์ บอกกับรอยเตอร์ว่า วิกฤตครั้งต่อไปที่จะเกิดขึ้นคือวิกฤตสภาพอากาศ และสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์เราจะสามารถทำได้ก็คือ การลดขยะอาหาร
การศึกษาวิจัยของกลุ่มสิ่งแวดล้อม WRAP โดยการสอบถามผู้คนหลายพันคน พบว่า ที่ประเทศอังกฤษ ขยะอาหารในบ้านลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงเริ่มต้นของการเกิดโรคระบาดในเดือนเมษายน ในเวลานั้นอาหารหลัก 4 ชนิด ได้แก่ ขนมปัง ไก่ นม และมันฝรั่งถูกทิ้งไปเพียง 14 เปอร์เซ็นต์
โดยก่อนที่จะมีการล็อคดาวน์ อาหารเหล่านั้นถูกทิ้งไปโดยเฉลี่ยราว 24 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตาม WRAP พบว่าอัตราเฉลี่ยของการทิ้งขยะอาหารเพิ่มขึ้นเป็น 18 เปอร์เซ็นต์ภายในเดือนมิถุนายน แต่ก็ยังต่ำกว่าระดับก่อนที่จะมีการล็อคดาวน์
ริชาร์ด สวอนเนลล์ (Richard Swannell) ผู้อำนวยการ WRAP Global ซึ่งทำงานร่วมกับรัฐบาลเพื่อลดขยะอาหาร กล่าวว่า แม้ว่าจะมีรายงานว่ามีการทิ้งขยะอาหารมากขึ้นเมื่อข้อจำกัดต่าง ๆ ถูกยกเลิกไป แต่ประชากรราว 70 เปอร์เซ็นต์ต้องการที่จะรักษาพฤติกรรมใหม่ ๆ ในการทิ้งอาหารให้น้อยลงไว้ในระยะยาว
อย่างไรก็ดี ความมั่นคงทางด้านอาหารเป็นปัญหาใหญ่ในช่วงการเกิดโรคระบาดใหญ่ ประชาชนซื้อสินค้าพื้นฐานบางอย่างกันมากเกินไป คนงานในฟาร์มไม่มีงานทำ โรงงานบรรจุเนื้อสัตว์ต้องปิดตัวลงเนื่องจากความหวาดกลัวต่อเชื้อไวรัส และสินค้าในฟาร์มที่ผลิตสำหรับร้านอาหารที่ปิดให้บริการต่างเน่าเสีย
ผู้เชี่ยวชาญด้านขยะอาหาร กล่าวว่า ผู้คนเริ่มมีระเบียบมากขึ้นในการวางแผนการทำอาหารมื้อต่าง ๆ ได้ฝึกทักษะการทำอาหารใหม่ ๆ และคอยเช็คอาหารในตู้กับข้าวและตู้เย็นมากขึ้นก่อนที่จะไปจ่ายตลาด นอกจากนี้ยังสามารถหาวิธีใช้ประโยชน์จากอาหารเหลือได้ดีขึ้นด้วย
ดานา กันเดอร์ (Dana Gunders) หัวหน้ากลุ่มองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ชื่อ ReFED ซึ่งทำงานเกี่ยวกับการลดขยะอาหารทั่วสหรัฐฯ กล่าวว่า บ้านที่มีสมาชิกครอบครัว 4 คนในสหรัฐฯ ได้รับการประเมินว่าทิ้งขยะอาหารคิดเป็นมูลค่าราว 1,800 ดอลลาร์ต่อปี
นอกจากนี้ การสำรวจโดยกระทรวงอาหารและการเกษตรของเยอรมนี ยังพบว่าผู้คนมีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับขยะอาหารในช่วงการเกิดโรคระบาดใหญ่
รัฐบาลเยอรมนีได้เปิดตัวโครงการรณรงค์ต่อต้านการทิ้งขยะอาหารตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤต เพื่อแนะนำให้ประชาชนไม่ทิ้งอาหารหลังวันที่สินค้าหมดอายุ แต่ให้ลองดมกลิ่นและชิมเพื่อดูว่ายังดีอยู่หรือไม่
การสำรวจระหว่างที่เกิดโรคระบาดใหญ่ พบว่า 91 เปอร์เซ็นต์ของชาวเยอรมันตรวจดูอาหารหลังวันหมดอายุ ซึ่งในการศึกษาที่คล้ายกันในปีพ.ศ. 2559 อัตราดังกล่าวอยู่ที่ 76 เปอร์เซ็นต์
สำหรับ แพร์รีและภรรยาของเขาที่อาศัยอยู่ในเมืองดีทรอยต์ การลดค่าใช้จ่ายช่วยให้ค่าอาหารของเขาลดลงไปมากตลอดช่วงห้าเดือนที่ผ่านมา ทั้งยังมีของเหลือมากมายในตู้เย็นอีกด้วย ซึ่งเขาก็จะพยายามลดค่าใช้จ่ายแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ในอนาคต